16 พฤศจิกายน 2564

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวัน "พระบิดาแห่งฝนหลวง"
 
 (รับชมคลิปข่าว) >>>>> https://www.facebook.com/100013898345705/posts/1272608613212405/?d=n
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08:50 น. ที่ห้องโถงชั้น1 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ(นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย นายวุฒิพงษ์ กะสินัง เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นางจุรีพร ขันตรี วัฒนธรรมจังหวัด และข้าราชการสังกัดเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2564 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงตรากตรำพระวรกายในการทรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ตลอดจนพระอัจฉริยภาพและพระวิริยะอุตสาหะในการทรงทุ่มเทงานให้กับการประดิษฐ์ คิดค้นวิจัย และพัฒนาจนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริมากมายนานัปการ ซึ่งรวมถึงโครงการฝนหลวง อันก่อเกิดประโยชน์คุณูปการอเนกอนันต์ แก่ปวงชนชาวไทยและนานาประเทศ
     ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะนำความรู้ ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการบังคับเมฆให้เกิดเป็นฝน จนเกิดเป็นเทคโนโลยีฝนหลวงที่ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากให้แก่พสกนิกรของพระองค์ที่ประสบภัยแล้ง และเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ที่มีสาเหตุจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน  ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระราชหฤทัย ก่อนพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการบนท้องฟ้า กระทั่งในปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว เพื่อให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก ต่อมาได้มีปฏิบัติการโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน ก็ได้รับรายงานยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เว็บไซต์ : https://pr.prd.go.th/ayutthaya/
สนับสนุนโดย
รายงานข่าว

ข่าวยอดนิยม สังคมสนใจ

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์

ข่าวภูมิภาค เชิญเที่ยว ช๊อป ชิม ริมบึงสามพัน(ถนนคนเดิน) ...