วันที่ 15 ก.ย. 2564“อุทัย” ขอบคุณนายกรัฐมนตรี ไฟเขียว เดินหน้า ประกันรายได้ยางพารา ปี3 ชาวสวนยาง เฮ ทั้งประเทศ รับเงินประกันราคายางสูงสุด 60 บาท/กก. ใช้เม็ดเงินกว่า หมื่นล้านบาท เปิดไทม์ไลน์การจ่ายเงิน พ.ย. งวดแรก ธ.ก.ส. ส่งตรงบัญชีเกษตรกร
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ ในที่ประชุม กนย.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่3 ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่รายได้ของเกษตรกรลดลงจากรายได้ที่คาดว่าเกษตรกรควรจะได้รับ และลดผลระทบต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกร ให้มีรายได้สม่ำเสมอในภาวะวิกฤติจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID - 19
“ท่านนายกรัฐมนตรี ถามประโยคแรกเลยว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร เงินไม่ค่อยมี แต่ก็ไม่ปัญหา ในนามตัวแทนเกษตรกรจะต้องขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรีที่ช่วยเหลือชาวสวนยาง อย่างไรก็ในที่ประชุมสำนักงบประมาณ เข้าทำนองเดิมก็คือไม่อยากให้จ่ายบัตรสีชมพู อ้างโน้นอ้างนี่ ก็มีความเป็นห่วงว่ากลัวบัตรสีชมพูจะตกขบวน หากดูตามมาตรา 4 พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 ก็อยุ่ในข่ายของผู้ทำสวนยาง ดังนั้นก็ต้องฝากตัวแทนเกษตรกร และกยท. เพื่อชี้แจงให้สำนักงบประมาณเข้าใจ จะได้จ่ายพร้อมกันไม่เป็นปัญหาเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา กว่าจะจ่ายก็ยื้อแล้วยื้ออีก”สำหรับประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางในปี 3 จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย และแจ้งข้อมูลพื้นที่ ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 19,163,572 ไร่ เป็น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ใช้งบประมาณ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,213,445,550.59 บาท
กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม (ผลผลิตยางแห้ง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัม (ผลผลิตยาง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565)
กำหนดเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน ดังนี้
เงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน = (ราคายางที่ประกันรายได้ – ราคากลางอ้างอิง การขาย ) x ปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง
ราคายางที่ประกันรายได้โดยกำหนดให้:ราคายางที่ใช้ประกันรายได้แต่ละชนิด (บาท/กิโลกรัม)
• ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม
• น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม
• ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม
โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 จะใช้วิธีการคำนวณปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง หมายถึง ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม (ผลผลิตยางแห้ง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัม (ผลผลิตยาง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ ทั้งหมด
นายอุทัย กล่าวว่า นอกจากนี้ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชา ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปตรวจสอบการขายยางในสต๊อก 1.04 แสนตัน ตามคำถามเกษตรกร ดังนี้
1. เหตุใด มติ ครม. 3 พฤศจิกายน 2563 จึงแตกต่างจาก ที่ กนย. ได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 โดยมีการให้เร่งระบายยางในสต๊อกให้หมดโดยเร็ว ทั้งที่ กนย.ไม่ได้มีมติ และมีการตัดเนื้อความ ของมติ กนย ออก คือ ที่บอกให้พิจารณาความเหมาะสมของสถานการณ์ราคายางในตลาด และที่บอกให้การนำยางในสต๊อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ
มติ ครม.3 พฤศจิกายน 2563 ที่ออกมามีการบิดเบือนมติ กนย. ครั้งที่ 1/2563 คือ
1)เติมคำว่า “เร่งดำเนินการระบายสต๊อกยาง...ให้หมดไปโดยเร็ว”
2)ตัดคำว่า “ราคายางในตลาด” ทิ้ง
3)ตัดคำว่า “การนำยางในสต๊อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ” ทิ้ง
ยางในสต๊อก 1.04 แสนตัน
ยางในสต๊อก 1.04 แสนตัน
"ตามที่ผมได้ให้ข้อสังเกตว่า “ให้นำยางพาราที่เก็บไว้ในสต๊อกไปใช้ในการทำที่กั้นจราจร เพื่อเร่งระบายยางออกจากสต๊อก” ขอทราบว่า ได้มีการดำเนินการเรื่องดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร เพราะการนำยางพาราที่เก็บไว้ในสต๊อกไปใช้ในการทำที่กั้นจราจร จะไม่กระทบต่อราคายางพาราในตลาด เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะรัฐจะได้ไม่ต้องไปขายแข่งราคาเกษตรกรชาวสวนยาง"
2. ตามที่ กยท. ได้รายงานในวาระการประชุมปรากฏว่า ยางในสต๊อกรัฐ มียางแผ่นรมควัน 100,717.66 ตัน ยางแท่ง STR20 3,751.90 ตัน ยางเหนียวอื่น ๆ 293.79 ตัน ซึ่งมีการแบ่งประเภทได้ชัดเจน แล้วทำไมถึงใช้ วิธีการขายแบบเหมาคละ และขายในราคาถูก โดยไม่นำราคา FOB ของยางแผ่นรมควันอัดก้อนมาเป็นฐาน ซึ่ง ในการประชุม กนย. ครั้งที่ 1/2563 วันที่ 1 มิ.ย. 63 มีการกล่าวถึง หลักเกณฑ์ประเมินมูลค่ายางไว้แล้ว โดยใช้ ราคา FOB เป็นฐาน ณ วันที่ 1 ต.ค.62 ขณะนั้น ราคา FOB อยู่ที่ 44.50 บ./กก. ประเมินราคายางในสต๊อกได้ 39.67 บ./กก. (ต่ำกว่าราคา FOB เพียง 5 บ./กก. หลักฐานปรากฏในรายงานประชุม กนย.ครั้งที่ 1/2563 หน้า 23-24) แต่เมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 ราคา FOB อยู่ที่ 73.90 บ./กก. ราคายางในสต๊อกควรจะ 68.90 บาท แล้วเหตุใด กยท. จึงทำการประเมินใหม่อยู่ที่ 37.01 บ./กก. ต่ำกว่า FOB ถึง 30 บ./กก. คุณใช้หลักเกณฑ์อะไรมากำหนดราคา มันต่ำมากเกินไป ราคายางในตลาดเสียหาย
3.อายุยางที่เก็บต่างเวลากัน ยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 53,190.14 ตัน อายุประมาณ 9 ปี และยางโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 51,572.88 ตัน อายุประมาณ 4 ปี ทำไมถึงไม่แยกกันประมูลขาย และทำไมนำยางทุกประเภทขายคละรวมกัน เอายางแผ่นรมควันอัดก้อนที่ถือว่าเป็นยางดีมีคุณภาพกว่า1.00717 แสนตันหรือประมาณ 96.14% (ตามรายงานแนบวาระหน้า 23) ต้องแยกประมูลต่างหาก การคละรวมกันเป็นการกระทำไม่สุจริต และไม่มีเหตุผล
4. การอ้างยางเสื่อมสภาพจะขัดกับหลักฐานของ กยท ที่รายงานต่อ กนย และหากอ้างยางเสื่อมสภาพได้มีการดำเนินการกับ เจ้าของโกดัง และผู้รับประกัน หรือไม่ อย่างไร ยางพาราเกือบทั้งหมดเป็นยางแผ่นรมควันอัดก้อน RSS จำนวนมากกว่า 1 แสนตัน หรือร้อยละ 96.14 การนำยางต่างชนิดขายคละเหมาไม่สุจริต ที่มีเนื้อยางบริสุทธิ์ประมาณ 98% ขึ้นไป คุณสมบัติคงทน ไม่เน่า ไม่เสีย หากเก็บรักษาตามมาตรฐานอดีตไทยเคยเป็นสมาชิกองค์การยางระหว่างประเทศ หรือ INRO เคยเก็บยางนานถึง 17 ปียังไม่เสื่อมสภาพ
5.การขายยางหมดสต๊อกครั้งเดียวมากกว่า 1.04 แสนตัน ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 8 (4) กยท.มีวัตถุประสงค์ต้อง “ดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ” ส่งผลให้ราคายางไม่มีเสถียรภาพและผันผวนอย่างมาก
กยท.ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน” (ตามมาตรา 35) เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเสียหายจากราคายางตกต่ำ ขายยางเท่าเดิมแต่ได้เงินน้อยลง เสมือนถูกปล้นเงินจากหยาดเหงื่อแรงกายไปทุกวันเกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเสียหายจากราคายางตกต่ำ
"ขายยางเท่าเดิมแต่ได้เงินน้อยลง จำนวนเกษตรกรชาวสวนยางที่ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมากกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน ที่เกณฑ์มาตราฐานผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 240 กิโลกรัม/ปี หากคูณที่ต้องสูญเสียเพราะราคาตกต่ำ 10.53 บาท/กิโลกรัมมูลค่าต้องเสียหายประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เกษตรกรสวนยางรายย่อยมีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 1.3 ล้านครัวเรือนเป็นครัวเรือนมีรายไห้น้อยได้รับความเดือดร้อนมาก รายได้สูญเสียไปประมาณครัวเรือนละ 25,272 บาทต่อปี"
6. ผมได้เป็นกรรมการ กยท มาตลอด ทราบถึง มติ ครม 21 ตุลาคม 2557 ครม.เห็นชอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งโครงการดังกล่าวกำหนดแนวทางการบริหารจัดการยางของ อ.ส.ย. (ปัจจุบัน รวมเป็น กยท.) ว่า “วิธีการ ใช้การระบายลต๊อกเดิมควบคู่กับการซื้อยางใหม่ ทั้งนี้ ต้องเป็นการระบายยางออกนอกประเทศ เพื่อมิให้เพิ่มปริมาณ Supply ยางในตลาด
เว้นแต่การนำมาใช้ในประเทศเพื่อกิจการของส่วนรวม” (ปรากฏตาม หนังสือ ก.เกษตรและสหกรณ์ ด่วนที่สุด ที่ กษ1304/3094 ลว.17 ต.ค.57 หน้า 2 ข้อ 4.1.1 (2)) ตามที่ผมได้เสนอแนะให้นำยางไปใช้ในประเทศที่กล่าวมาแล้ว จึงต้องถามว่า การระบายยางในสต๊อกรัฐครั้งนี้ กยท.ได้มีการกำหนดให้ระบายยางออกนอกประเทศหรือไม่ และหาก กยท. ขายยางยกล็อตไปในครั้งนี้โดยไม่กำหนดให้มีระบายยางออกนอกประเทศ อาจถือเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางตามมติ ครม 21 ตุลาคม 2557 ที่ได้เห็นชอบไว้
7. ต้องเสนอ กนย เห็นชอบราคาขายเพื่อขออนุมัติต่อ ครม ก่อน เพราะโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณที่รัฐบาลต้องชดเชยเงิน จำนวน 9,955 ล้านบาทเศษ การขายในราคา 37.27 บาท/กิโลกรัม เป็นเงิน 3,904 ล้านบาทเศษก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณของรัฐ (ผลขาดทุน) จำนวน 6,051 ล้านบาทเศษ จึงต้องจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และผลขาดทุนรวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับไว้แล้วก่อนทำสัญญาขาย ตามมาตรา 27 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ต้องขออนุมัติ ครม. ก่อน จึงทำการขายได้
นายอุทัย กล่าว สรุปจากข้อสังเกตที่ได้เสนอดังกล่าวข้างต้น ก็ขอนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำคำชี้แจงตามข้อสังเกต เพื่อเป็นข้อมูลที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติจะพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก คณะกรรมการยางธรรมชาติจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่ให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ กำกับการดำเนินงานโครงการ ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นภาระงบประมาณที่ต้องชดเชยผลขาดทุนให้น้อยที่สุด