สำนักศิลปะฯ มรส. ร่วมสืบสานมรดกสิ่งทอ
เตรียมสร้างต้นแบบลายผ้าประจำจังหวัด "ราชวัตรโคม" หวังยกระดับวัฒนธรรมท้องถิ่น
__________________
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สุราษฎร์ธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการมรดกสิ่งทอสุราษฎร์ธานี สร้างสรรค์ผ้ายกลายราชวัตรโคม ลายผ้าประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี หวังร่วมสืบสาน พัฒนาต่อยอด และยกระดับมรดกสิ่งทอจังหวัด
สุราษฎร์ธานี สู่ช่างทอผ้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เกิดเป็นมูลค่าสู่ชุมชน โดยมี ผศ.ดร. วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นางอุรสา จินโต ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานกล่าวเปิดอาจารย์ธีรพันธ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้เกียรติร่วมงานในพิธีเปิดการอบรม และในโอกาสนี้ได้มีการมอบรางวัลภูมิราชภัฏ จากสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 แก่ นางสาวจิราวัลย์ ปิงเมา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมพุทธทาส สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
นางอุรสา จิณโต ประธานสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า "คณะทำงานได้มีการประชุมหารือกันนอกรอบหลายครั้งเพื่อผลักดันการผลิตผ้าทอลายราชวัตรโคมรวมไปถึงการอนุรักษ์มรกดสิ่งทอสุราษฎร์ธานี ซึ่งโครงการนี้นอกจากเป็นการให้ความรู้แก่ช่างทอแล้ว ยังเป็นการสร้างต้นแบบผ้าให้ช่างทอในจังหวัดได้มีความรู้เกี่ยวกับผ้าลายราชวัตรโคมที่จังหวัดประกาศให้เป็นลายผ้าประจำจังหวัดด้วย และจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการให้เกิดผลเชิงประจักษ์"
.
ด้าน ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญทั้งในด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ การบริหารจัดการและอีกหลายศาสตร์ที่จำเป็นและเอื้ออำนวยต่อการออกแบบลายผ้า ดังนั้นกิจกรรมของสำนักศิลปะฯ ในครั้งนี้จึงถือเป็นการบูรณาการศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การยกระดับชุมชน เป็นจุดเน้นสำคัญของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนและยกระดับงานทุกด้านให้เข้าสู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้น"
.
ส่วนอาจารย์ธีรพันธ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรส. กล่าวว่า สำนักศิลปะและวัฒนธรรมในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ทำนุบำรุง สนับสนุน ส่งเสริม ถ่ายทอดและเผยแพร่ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และได้เล็งเห็นถึง "มรดกสิ่งทอสุราษฎร์ธานี" เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างประโยชน์ให้เกิดผลเชิงบวกทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ เพราะจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นอู่อารยธรรมที่สำคัญของภาคใต้ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานและโดดเด่น คือ ผ้ายกพุมเรียง อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่เป็นเครื่องสะท้อนถึงความปรองดอง การอยู่อาศัยของชาวสยามผู้เป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มาแต่เดิม และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมหลักกับชาวมลายู ที่ได้ร่วมร้อยรัดทางวัฒนธรรมระหว่างกันออกมาผ่านผืนผ้าได้อย่างงดงามน่าชื่นชม
.
โครงการมรดกสิ่งทอสุราษฎร์ธานี ประกอบไปด้วยการให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องของลายผ้า การถอดลายผ้า การย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ เทคนิคการทอ การพัฒนาผ้าทอต้นแบบ จนกระทั่งสามารถผลิตและจำหน่ายผ้าลายประจำจังหวัดได้ในที่สุด
__________________
#สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
สมยศ นุ่นจำนงค์ /ภาพ
เทพรวี ทวีเฉลิมดิษฐ์ /ออกแบบสื่อประสัมพันธ์