ข่าว / แพร่
กองทุนพัฒนาสื่อฯ ถอดบทเรียนข่าวปลอม พัฒนากลไกตรวจสอบพัฒนากลไกข่าวจริง สร้างสังคมรู้เท่าทันสื่อ
ปัจจุบันผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสื่อต่างๆ ได้ง่ายและไวขึ้น การรับส่งข้อมูลจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหลายครั้งอาจส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน ข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลบิดเบือน Media Alert โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) จึงจัดเวทีเสวนาวิชาการออนไลน์ “ถอด DNA ข่าว/ข้อมูล ผิดพลาด-บิดเบือน-มุ่งร้าย ในสังคมไทย เพื่อเสริมพลังกลไก Fact-Checking” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ชวนนักวิชาการและสื่อมวลชนร่วมให้ความเห็นและแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งในการรู้เท่าทันสื่อ
ผลวิจัยชี้ พบแนวโน้มข่าวลวงเกินครึ่ง ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงที่มาของการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า Media Alert ต้องการแจ้งเตือนสังคม โดยส่งเสริมทักษะการวิเคราะห์และแยกแยะข้อมูล พร้อมทั้งเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อเตรียมรับมือกับสื่อที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
แล้วเผยผลการศึกษาวิจัยข้อมูลข่าวสารตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ที่จัดทำโดย 3 องค์กรหลักที่ต่อต้านข่าวลือ ได้แก่ โคแฟค ประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหลายภาคีเครือข่าย ซึ่ง ดร.ธนกร กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้ศึกษาผลการดำเนินการจากข้อมูลหรือข้อร้องเรียนที่ส่งเข้ามาว่ามีรูปแบบใด แต่ละรูปแบบมีโอกาสเป็นข่าวปลอมมากน้อยแค่ไหน โดยแยกได้จากวิธีการสื่อสารและเจตนาของผู้ลงข้อมูล พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นข่าวลวงกว่า 900 เคส จากชุดข้อมูล 1,585 เคส “จากการตรวจสอบข่าวและข้อมูลต่างๆ รวมทั้งสิ้น 1,585 เคส โดย 3 องค์กร มีโอกาสเป็นข่าวปลอมกว่า 900 เคส เนื่องจากมีการถ่ายเทข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ผลการวิจัยบางส่วนที่มีการเก็บข้อมูลจึงชี้ว่า ข่าวปลอมมีค่อนข้างมากในโลกออนไลน์ ซึ่งภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อฯ จะมุ่งสกัดกั้นข้อมูลเท็จ เพื่อนำไปสู่การลดข่าวปลอม” ดร.ธนกร เผย
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการ Rocket Media Lab ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากการสรุปข้อมูลทั้งหมด ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโควิด-19 มีสัดส่วนมากสุดในการศึกษาครั้งนี้ โดยข่าวปลอมที่พบมีเช่น เรื่องวัคซีน ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน การเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ส่วนข้อมูลข่าวปลอมที่มีสัดส่วนรองลงมาคือ ข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม สมุนไพรเพื่อการแสวงหากำไรหรือความหวังดีในการดูแลสุขภาพ
ส่วน ดร.ชํานาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ และรักษาการผู้อํานวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ กองทุนพัฒนาสื่อฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้จัดทำเพื่อสรุปภาพข่าวปลอมทั้งหมดของไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเชื่อว่าในความเป็นจริง ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นต้องมีมากกว่า 900 ตัวอย่าง ที่หน่วยงานตรวจสอบข่าวปลอมค้นพบแน่นอน แต่การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากข่าวปลอมผ่าน 3 กลไกตรวจสอบเท่านั้น
“กองทุนพัฒนาสื่อฯ มุ่งหวังส่งเสริมและสนับสนุนการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาและตรวจสอบข่าวปลอม ซึ่งพบว่าข่าวปลอมส่วนใหญ่คือ ข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด สุขภาพ และข่าวปลอมที่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งข่าวเท็จเหล่านี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความระแวง ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องร่วมมือกันสร้างฐานข้อมูล และมาตรฐานในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมุ่งขยายแนวร่วมหรือเครือข่ายการทำงานตรวจสอบข้อมูล” ดร.ชำนาญ ย้ำ
นักวิชาการสื่อร่วมเวที เปิดข้อชี้แนะเพื่อนิเวศสื่อที่ปลอดภัย นอกจากสรุปผลการศึกษาวิจัยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เวทีเสวนาวิชาการออนไลน์ “ถอด DNA ข่าว/ข้อมูล ผิดพลาด-บิดเบือน-มุ่งร้าย ในสังคมไทย เพื่อเสริมพลังกลไก Fact-Checking” ยังเปิดให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสื่อมวลชน ได้ร่วมพูดคุยถึงระบบการจัดการปัญหาข่าวลวง พร้อมแนะการทำงานในอนาคต เพื่อเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยในโลกออนไลน์
พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท เผยว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงแตกต่างจากงานข่าวทั่วไป เนื่องจากงานข่าวจะเน้นความรวดเร็ว แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและการจัดการปัญหาจะมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดการกับระบบและโปรแกรมให้รองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ต้องอาศัยการวางแผน 1-2 ปี แต่ในระยะยาวจะช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก
ขณะที่ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER ชี้ว่า ต้นทุนในการเช็คข่าวว่าจริงหรือเท็จต้องใช้ทรัพยากรและเวลาเป็นอย่างมาก ซึ่งสื่อพยายามช่วยกันตรวจสอบอย่างเต็มที่ แต่อยากเสนอให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น เพราะปัญหาของข่าวปลอมส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐเปิดข้อมูลน้อยเกินไป
ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ปี 2563 รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลดีมาก แต่กลับกันในปี 2564 การที่สื่อจะตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐย้อนหลังเป็นเรื่องยาก ซึ่งหลายข่าวต้องตรวจสอบแหล่งที่มาจากภาครัฐ จึงมุ่งหวังผลักดันให้รัฐบาลเปิดข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้องและถี่ถ้วน
ตอนท้ายของเวทีเสวนา ดร.ชำนาญ กล่าวสรุปว่า วัตถุประสงค์ของงานเสวนาครั้งนี้คือ การผลักดันกลไกการตรวจสอบข้อมูลในไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น กองทุนพัฒนาสื่อฯ จึงมุ่งมั่นตั้งใจสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบข่าวปลอม และตั้งเป้าว่าจะประสานงานอย่างเต็มที่ เพื่อผนึกกำลังต่อต้านข่าวปลอมในอนาคต
วงเสวนาของ Media Alert โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งนี้ จึงเป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองในการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อส่งเสริมสังคมที่เข้มแข็งในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรู้เท่าทันสื่อต่อไป
/////
ภาพ/ข่าว
ราเชนทร์ โชติถนอมกิจ
แพร่.รานงาน
สนับสนุนโดย