ข่าวประชาสัมพันธ์
ไทยร่วมประชุมระหว่างสมัย CND สมัยที่ 66 วันที่สอง ร่วมกิจกรรมครบรอบ 10 ปี การรับรองเอกสารแนวปฏิบัติสหประชาชาติด้านการพัฒนาทางเลือก
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระหว่างสมัย ครั้งที่ 1 ของการประชุม CND สมัยที่ 66 เป็นวันที่สอง โดยร่วมกับผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวงและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมการเปิดตัวเอกสาร UNODC ว่าด้วยแนวปฏิบัติทางด้านเทคนิคสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกในมิติสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเฉลิมฉลอง 10 ปี การรับรองเอกสารแนวปฏิบัติสหประชาชาติด้านการพัฒนาทางเลือก (United Nations Guiding Principles on Alternative Development : UNGP on AD) ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเวียนนา กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
การประชุมระหว่างสมัย ครั้งที่ 1 ของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 66 และกิจกรรมครบรอบ 10 ปี การรับรองเอกสาร UNGP on AD จัดขึ้นในห้วงวันจันทร์ที่ 23 - วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเวียนนา กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย สำหรับการประชุมในวันที่สอง สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมรับฟังการอภิปรายในหัวข้อความท้าทายที่ 3 : ความเชื่อมโยงที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างการลักลอบค้ายาเสพติด การคอร์รัปชั่น และอาชญากรรมรูปแบบอื่น อาทิ การคอร์รัปชั่น การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าอาวุธ การฟอกเงิน อาชญากรรมไซเบอร์ โดยที่ประชุมฯ ได้อภิปรายและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอในการจัดการกับความท้าทายดังกล่าว อาทิ สหภาพยุโรป (EU) นำเสนอบทบาทของ EU
โดยสหรัฐอเมริกาได้อภิปรายให้ความสำคัญกับการแก้ไขความท้าทายจากแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นของการซื้อขายยาเสพติดสังเคราะห์ผ่านช่องทางออนไลน์และการใช้เงินสกุลดิจิตอล การดำเนินการต่อกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มีส่วนร่วมในการค้ายาเสพติดสังเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟนทานิล เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้เสนอให้ทุกประเทศเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมการจัดการกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอย่างครอบคลุม โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ด้านรัสเซีย เม็กซิโก และ ออสเตรเลีย เสนอให้ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการข่าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ต่อมาในการอภิปรายหัวข้อความท้าทายที่ 4 : มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้จากอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินจากการลักลอบค้ายาเสพติดทั่วโลกซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำ นางสาวสุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้แบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทยในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน ซึ่งมีความคืบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจจับและติดตามธุรกรรมต้องสงสัย ทำให้สามารถระงับธุรกรรมต้องสงสัยได้ภายใน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ กำหนดให้มีการยืนยันตัวตนหรือ Know Your Customer (KYC) ในการทำธุรกรรมผ่านตู้ฝากเงินอัตโนมัติ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ช่วงพฤศจิกายน 2566 นี้
ในส่วนกิจกรรมการเฉลิมฉลอง 10 ปี การรับรองเอกสารแนวปฏิบัติ UNGP on AD นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ยังได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมในการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย โดยในการอภิปรายหัวข้อ “กระแสแนวคิดสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาทางเลือก : การเปิดตัวคู่มือเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกและสิ่งแวดล้อม” มี ดร.อัญชัญ ชมภูพวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง นำเสนอประสบการณ์การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ซึ่งอยู่บนหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-centric approach) เน้นการสร้างสมดุลในการดำเนินมาตรการที่คำนึงถึงการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนบนพื้นที่สูง โดยคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมการเปิดตัวผลิตภัณฑ์กาแฟซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการพัฒนาทางเลือกในประเทศโคลอมเบีย
--------- หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์
สนับสนุนโดย