25 กุมภาพันธ์ 2565

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์

ประเทศไทย – ชาวเชียงใหม่ร่วมใจดูแลช้างหลังไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

จากการสำรวจของสหพันธ์ช้างไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างเลี้ยงอยู่ราว 3,700 – 3,800 เชือก ซึ่งส่วนมากเป็นช้างที่ถูกใช้งานในแวดวงการท่องเที่ยว เกือบทั้งหมดได้กลายสภาพเป็นช้างตกงานจากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดูช้างตามมา เนื่องจากช้างแต่ละเชือกจะต้องกินอาหารให้ได้วันละ 10% ของน้ำหนักตัว ขณะที่ช้างแต่ละเชือกมีน้ำหนักตั้งแต่ 2,000 – 5,000 กิโลกรัม เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้ริเริ่มไอเดียในการบริจาคที่ดินเปล่าในเขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ชาวบ้านในพื้นที่และควาญช้างได้มาช่วยกันปลูกหญ้าเนเปียเพื่อนำไปเป็นอาหารช้าง จนทำให้ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการและเอกชนอีกหลายรายที่ได้บริจาคที่ดินเปล่า หรือบริจาคอาหารให้กับช้างตามปางต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ภายในพื้นที่ และการบริจาคจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังไม่มีนโยบายความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ ขณะที่สมาคมสหพันธ์ข้างไทย วอนให้รัฐบาลไทยมองว่าช้างเป็นประชากรอีกส่วนหนึ่งของประเทศด้วย






ปรีทอง สิงขรพิทักษ์ – คนงานปลูกหญ้าเนเปีย บอกว่า “ดูแลหญ้า แล้วก็ปลูกหญ้าครับให้ช้างครับ ยกขึ้นรถครับ ยกขึ้นรถไปส่งปางช้างต่างๆ นะครับ ไปส่งแม่แตงบ้าง แม่วางบ้าง แม่ริมบ้าง แล้วก็พัทร เอ้ย หางดงบ้างนะครับ”

ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย
บอกว่า “ช้างในประเทศไทยเนี่ยกว่า 3,800 เชือกเนี่ย ส่วนมากแล้วได้รับการเลี้ยงดูหรือดูแลในสารบบของการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นตั้งแต่เราปิดประเทศมาเนี่ย จนถึงวันนี้แล้วก็ครบรอบ 2 ปีแล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่าคนเลี้ยงช้างไม่มีรายได้ แทบจะทุกวันหรือวันเว้นวันเนี่ย เราต้องประสบปัญหาได้รับการรายงานถึงช้างที่ล้มป่วยและตายลงนะครับ”

กันทอง เลิศวงษ์รัตนกุล – ควาญช้าง บอกนักข่าว “ที่แม่ขนิลนี่มี 10 กว่าเชือกครับ ดูแลตอนนี้ 2 แม่ลูกครับ ทุกวันนี้ก็หาตัดหญ้าที่ปลูกไว้ให้นะครับ เพราะว่าตอนนี้จะเข้าหน้าแล้งแล้ว หญ้าไม่ค่อยเพียงพอแล้วครับ”

เพิ่มพงษ์ สาวิกันย์ - ผู้จัดการโครงการปางช้างภัทร บอกว่า “ก็ช่วยกันกับควาญช้าง ก็ดูแลสถานที่ ดูช้างช่วยกัน ไปดูสถานที่ที่ออกไปไกลจากนี่ฮะ เข้าไปในป่า ไปดูว่ามีอาหารช้างมั้ย ถ้ามีก็มาบอกกัน ก็คืออยากให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเราก็จะมีรายได้สำหรับที่จะช่วยดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับควาญช้าง”

ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย บอกว่า “สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของโครงการนำร่องที่เริ่มต้นด้วยบริษัท แสนสิริ จำกัดนะครับ กลายเป็นว่า หน่วยงานอื่นที่เห็นแนวทางก็เข้ามาสนับสนุนโครงการของสมาคมด้วย ล่าสุดก็เป็นความร่วมมือของภาคทหารนะครับ กองพันสัตว์ต่างร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่นะครับ ร่วมกันให้เราใช้พื้นที่กว่าร้อยไร่ในการปลูกหญ้านะครับ ซึ่งก็เป็นเฟสที่ 2 รวมถึงเอกชนรายต่างๆ ที่มีการติดต่อเข้ามา สิ่งที่ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการหางบประมาณในการจ้างควาญ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนคงต้องช่วยกันคิดต่อไปว่าทำยังไงถึงจะรักษาควาญช้าง 3-4,000 คนเนี่ย เพื่อให้เขาช่วยเลี้ยงดูช้างของประเทศไทยให้ได้”


ธีรภัทร ตรังปราการ – นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เพิ่มว่า “เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราเป็นประเทศที่มีช้างนะครับ เพราะฉะนั้นนอกจากมีประชากร 70 กว่าล้านคนที่จะต้องดูแลแล้ว ข้อนึงที่รัฐบาลจะลืมไม่ได้ มองข้ามไม่ได้เลยก็คือยังมีประชากรช้างกว่า 3,800 เชือก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยครับ”

ที่มา A24 News Agency

ข่าวยอดนิยม สังคมสนใจ

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์

ข่าวภูมิภาค เชิญเที่ยว ช๊อป ชิม ริมบึงสามพัน(ถนนคนเดิน) ...