พลิกโฉมภาคเกษตรครั้งใหญ่ !!!
กรกอ.มีมติสนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโมเดลใหม่ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน
มอบ”อลงกรณ์”นำทีมตั้งเป้ายกระดับรายได้เกษตรกรพร้อมเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร9กลุ่มจังหวัดแรกหวังสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรสู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กร.กอ.) เปิดเผยวันนี้(15ม.ค.)ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2565 ผ่านการประชุมทางไกล zoom cloud meeting โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง5ภาค นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยมี นายวินิต อิทธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และนายพงศ์ไท ไทโยธิน
ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ
โดยนายอลงกรณ์กล่าวว่า กรกอ.มีมติสนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโมเดลใหม่โดยภาคเอกชนและให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการมีเป้าหมายประกันราคาสินค้าเกษตรสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้แนวคิดความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่และจะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของภาคเกษตรของเรา ภายใต้5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.โดยการสนับสนุนของรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีพาณิชย์
“ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมกุ้งตลอดห่วงโซ่ธุรกิจร่วมกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งและกรมประมงโดยกระทรวงเกษตรฯ.เริ่มทดลองโครงการประกันราคากุ้งเฟสแรกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และขณะนี้กำลังขยายผลโครงการไปกลุ่มผลไม้เศรษฐกิจภายใต้ฟรุ้ทบอร์ด ในอดีตที่ผ่านมาภาครัฐใช้เงินงบประมาณอุดหนุนสินค้าเกษตรกว่าแสนล้านต่อปีขณะที่ผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรยังเป็นปัญหาเช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรก็ไม่มีความแน่นอน การเอาเปรียบทางการค้ากับเกษตรกรยังมีอยู่ ถ้าโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโดยภาคเอกชนสำเร็จ ต่อไปภาครัฐจะได้ใช้งบประมาณไปทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเมดอินไทนแลนด์ การพัฒนาผลิตภาพ(Productivity)ทั้งระบบ การพัฒนาการศึกษาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม การเพิ่มทักษะ(Reskill&Upskill)บุคคลากรภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการภาคเกษตรกร และการโปรโมทสินค้าเกษตรอาหารของไทยในต่างประเทศ
โครงการนี้ไม่ง่ายเลยแต่มีความเป็นไปได้ขึ้นกับความร่วมมือแบบหุ้นส่วนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ เราต้องช่วยกันปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่ สร้างคานงัดใหม่ๆในการอัพเกรดประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร9กลุ่มจังหวัดแรกหวังสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรสู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูงและ12อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(S-Curve)
รวมทั้งรับทราบวาระต่างๆเช่น (1) บันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังความร้อนจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 (2) ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาค (กร.กอ.ระดับภาค)
(2.1) ความก้าวหน้าภายใต้คณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออก ได้เสนอกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภาคตะวันออก ปี 2566 -2570 มีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรและเชื่อมโยงตลาดในระดับภาคตะวันออกฝให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายตลาดนำการผลิต (2.2) ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญตามศักยภาพแบบครบวงจร ในพื้นที่ 5 กลุ่มจังหวัด ซึ่งได้กำหนดสินค้าแบ่งออกเป็น (1) สินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ผัก โค และแพะ และ (2) สินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) สมุนไพร กัญชาและใบกระท่อม
ที่ประชุมได้พิจารณา “แนวทางการดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดนำร่อง” และมีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อหารือแนวทางการจัดทำมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ของกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อม 9 กลุ่มจังหวัด (2) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับภาค และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมบางส่วน และกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมให้มีสอดคล้องกันในแนวทางการส่งเสริม
สำหรับการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร นั้นที่ประชุม
กรกอ.มีมติมอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยองค์ประกอบคณะอนุฯ ได้แก่ นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง5ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้) ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่งและฝ่ายเลขานุการ กร.กอ. ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ.ตามมติที่ประชุมโดยเร็ว.