29 กันยายน 2564

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 28 กันยายน 2564

วันนี้ (28 กันยายน 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

http://www.thaigov.go.th

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

                   วันนี้ (28 กันยายน 2564)  เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี  (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล  ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

 


กฎหมาย                   1.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….

                   2.       เรื่อง     ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ….

                   3.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ….

                   4.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….

 

เศรษฐกิจ สังคม                   5.       เรื่อง    ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2564

                   6.       เรื่อง     รายงานประจำปี 2563 คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ

                   7.       เรื่อง     ขอยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้

                   8.       เรื่อง     สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2564

                    9.       เรื่อง     ขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง) วงเงิน 13,500.000 ล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้น จำนวน 800.000 ล้านบาท (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565

                   10.      เรื่อง     กรอบแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

                   11.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ฤดูการผลิต 2562/2563 และรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ

                   12.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบกรอบวงเงินกู้เงินระยะสั้น (Credit Line) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

                   13.      เรื่อง     การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

                   14.      เรื่อง     การขยายระยะเวลาการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)

                   15.      เรื่อง     การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ        ไวรัสโคโรนา 2019

                   16.      เรื่อง     ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

                   17.      เรื่อง     การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี               (ฉบับที่ 2)

                   18.      เรื่อง     ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค

 

ต่างประเทศ                   19.      เรื่อง     รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย - คาซัคสถาน

                   20.      เรื่อง     การพิจารณารับรองร่างปฏิญญาของกลุ่ม 77 และจีน (Ministerial Declaration of the Group of 77 and China to UNCTAD XV: From inequality and                                        vulnerability to prosperity for all) และร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม  UNCTAD XV (The Bridgetown Covenant: From inequality and vulnerability to prosperity for all)

                   21.      เรื่อง     การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26

                   22.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสาร ASEAN Protocol for Preparedness and Response to a Nuclear or Radiological Emergency 

                   23.      เรื่อง     ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Chair’s Summary of Asia Green Growth Partnership      Ministerial Meeting)

                   24.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบการรับรองร่างเอกสาร Joint Statement of the Fifth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting และ Joint Statement of the Fifth East Asia Summit Education Ministers Meeting

                   25.      เรื่อง     เรื่องการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ

และวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์

                   26.      เรื่อง     ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15

                   27.      เรื่อง     การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

 

แต่งตั้ง                   28.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

                   29.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

                   30.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

                   31.      เรื่อง     การให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ

                   32.      เรื่อง     การอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 – 2565

                   33.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

                   34.      เรื่อง     ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

                   35.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

 

*******************

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

กฎหมาย1. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่ อก. เสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอ้างอิง การพัฒนาเทคโนโลยี การทำ และการใช้ภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว

                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

                   กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2011 – 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6252 (พ.ศ. 2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา และแผ่นบางที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนที่ต้านการกัดกร่อนได้ดีในบรรยากาศ ลงวันที่ 20 เมษายน 2564 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

2. เรื่อง ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ….

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป  

                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า

                   1. ในปัจจุบันการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของชาวต่างชาตินับได้ว่ามีความสำคัญต่อสังคมไทย โดยมีเหตุผลที่ต้องการเข้ามามีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยหลายประการ เช่น เข้ามาเพื่อทำงาน เพื่อการลงทุน เพื่ออยู่กับครอบครัว คู่สมรส หรือบุตรที่อยู่ในประเทศไทย การสนับสนุนชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจหรือลงทุนในประเทศไทย เป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ประการหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ  

                   2. โดยที่มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจำนวนคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี แต่มิให้เกินประเทศละ 100 คนต่อปี และสำหรับคนต่างด้าวไร้สัญชาติมิให้เกิน 50 คนต่อปี และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจะเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง และด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว 

                   3. ดังนั้น เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น การให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย มท. จึงเห็นควรประกาศกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2564 

                   4. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ยกร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. …. ขึ้น และในคราวประชุมคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว และให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

                   สาระสำคัญของร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย 

                   กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสัญชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรประจำปี พ.ศ. 2564 มีจำนวนประเทศละไม่เกิน 100 คน และคนต่างด้าวไร้สัญชาติมีจำนวนไม่เกิน 50 คน

 

3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ….

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป และรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

                   ทั้งนี้ คค. เสนอว่า 

                   1. กรมทางหลวงมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะในการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3342 สาย อำเภออู่ทอง-บ่อพลอย ตอน วังขอน-บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและการขนส่ง เนื่องจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การคมนาคมมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ใช้เส้นทางในเวลาเร่งด่วนไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเห็นควรขยายช่องจราจรให้กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ทางสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ดังนั้น การพิจารณาก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินดังกล่าว จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจราจร และลดอุบัติเหตุ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ตลอดจนเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด 

                   2. กรมทางหลวงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นที่ กม.7+933.700 - กม.8+248.060 รวมระยะทาง 0.314360 กิโลเมตร วงเงินการก่อสร้าง 30,000,000 บาท มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย ที่ดินประมาณ 3 แปลง ค่าทดแทนและค่าเสียหายอื่น ๆ รวมค่าทดแทนในการเวนคืน รวมเป็นเงินประมาณ 993,480 บาท 

                   3. ดังนั้น กรมทางหลวงจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3342 สาย อำเภออู่ทอง บ่อพลอย ตอน วังขอน บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค สมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด

                   4. สำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่า โครงการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และลดอุบัติเหตุ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ประมาณค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าทดแทนอื่น ๆ จำนวน 993,480 บาท จึงเห็นควรที่กรมทางหลวงจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่ง สงป. จะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กรมทางหลวง เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้ว  

                   5. กรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดินดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว 

                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

                    กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3342 สาย อำเภออู่ทอง บ่อพลอย ตอน วังขอน บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

 

4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….

                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

                   เรื่องเดิม

                   1. มท. ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนในและแขวงจอมพล แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์             ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย พร้อมกับการสร้างและขยายถนนต่อเชื่อม 

                   2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (1 กันยายน 2558) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1. ตามที่ มท. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

                   3. สคก. ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสร็จแล้ว 

                             3.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการส่งเรื่องออกจาก สคก. ได้ เนื่องจากรอผลการหาข้อยุติ กรณีคณะผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาใหม่ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีขอให้ยุติการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้วเสนอให้เปลี่ยนแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) พิจารณาดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ ต่อมากรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งยืนยันผลการดำเนินการหาข้อยุติตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีว่า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ตามแนวถนนทหารเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น และได้ข้อยุติกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยปรับรูปแบบสะพานเกียกกายไม่กระทบพื้นที่รัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ขัดข้องรูปแบบดังกล่าว 

                             3.2 ได้มีการแก้ไขชื่อร่างเป็น ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….” แก้ไขบทอาศัยอำนาจ และการจัดเรียงลำดับบทบัญญัติ รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว 

                   4. โดยที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตามข้อ 3. ให้ มท. พิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง 

                   ข้อเท็จจริง 

                   มท. แจ้งว่า

                   1. มท. พิจารณาแล้ว ยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป

                   2. สงป. แจ้งว่าได้เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประเภทรายจ่ายเงินอุดหนุน รายการค่าจัดกรรมสิทธิ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนเงิน 1,793,128,800 บาท

                   3. กรุงเทพมหานครได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 จำนวน 4 ครั้ง โดยมีหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคการเมือง สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน และหรือผู้นำทางความคิดที่อยู่ในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้รับทราบ รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในกรณีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในระยะทาง 2 กิโลเมตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 เรียบร้อยแล้ว

                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

                   กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย กับการสร้างและขยายถนนต่อเชื่อม

 

เศรษฐกิจ สังคม5. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2564

                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

หัวข้อ      สาระสำคัญ

1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ           

- การจัดทำโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) รวบรวมข้อเสนอโครงการสำคัญฯ ปี 2566 - 2570 จำนวน 3,039 โครงการ โดยอยู่ระหว่างประมวลผลและจัดลำดับความสำคัญก่อนเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป และ (2) ตรวจสอบผลการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของโครงการสำคัญ ซึ่งพบว่า โครงการสำคัญฯ ทั้งหมดจำนวน 492 โครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 25 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 5) ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 41 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 9) และถูกปรับลดงบประมาณ จำนวน 426 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 86) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีโครงการสำคัญที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและไม่ได้ถูกปรับลดงบประมาณจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนโครงการสำคัญฯ ทั้งหมด

- การรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2563 สศช. ได้รายงานสรุปผลการดำเนินการดังกล่าวต่อวุฒิสภาเมื่อวันที่ 17 และ 23 สิงหาคม 2564 โดยสมาชิกวุฒิสภามีความเห็นและประเด็นอภิปราย เช่น (1) ควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงเป้าหมายตัวชี้วัดภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งทบทวนค่าเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (2) ควรปรับเปลี่ยนวิธีการพิจารณางบประมาณให้มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ และ (3) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองและส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคควรร่วมกันกำหนดขั้นตอนการขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนและเป็นระบบสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ สศช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามความเห็นดังกล่าวรวมทั้งนำไปจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2564 ต่อไป

1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ          - รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 2563 และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563) ต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 17 และ 23 สิงหาคม 2564 โดยสมาชิกวุฒิสภามีความเห็นและประเด็นอภิปราย ดังนี้

          (1) รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 2563 เช่น 1) รัฐบาลต้องประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการผลักดันการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้บรรลุเป้าหมาย 2) ภาครัฐควรมุ่งเน้นการเป็นองค์กรดิจิทัล นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน และพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ และ 3) เร่งพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ให้ง่ายต่อการใช้งานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          (2) รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563) เช่น ควรมีการรายงานข้อมูลความคืบหน้าในกรณีที่ดำเนินกิจกรรมแล้วเสร็จแต่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงและเร่งรัดติดตามกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ

- จัดทำรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนเมษายน - มิถุนายน 2564) ซึ่งจะวิเคราะห์ปัญหาและปัจจัยแห่งความสำเร็จของแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ประกอบด้วยเป้าหมายย่อย กิจกรรม ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการ รวมถึงช่วงเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำกับการดำเนินงานเพื่อติดตามความคืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ  - อยู่ระหว่างเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบ eMENSCR ระบบการบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) และระบบ e-Budgeting เพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลที่ครอบคลุม รวมถึงเพื่อลดความซ้ำซ้อนและขั้นตอนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า การนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR ยังไม่มีการระบุรหัสงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ ซึ่งในปี 2565 สศช. จะจัดทำระบบการติดตามตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนินงานของหน่วยงานอย่างเข้มงวด เพื่อให้ข้อมูลในระบบ eMENSCR มีความสอดคล้องกับระบบ GFMIS และง่ายต่อการเชื่อมโยงข้อมูลในอนาคตต่อไป

- จัดกิจกรรม ก้าวพอดี 2564 ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืนระหว่างวันที่ 8 - 9 กันยายน 2564 ซึ่งในการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงผังความเชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยกับเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal relationship: XYZ) ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ : การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และข้อปฏิบัติให้สอดรับกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล      กฎ ระเบียบและข้อปฏิบัติภายในหน่วยงานราชการบางประการยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการ ส่งผลให้หน่วยงานต้องดำเนินการด้วยเอกสารหรือหนังสือราชการ หรือจำกัดวิธีการติดต่อราชการเฉพาะการติดต่อด้วยตัวบุคคล ณ สถานที่ทำการ ซึ่งไม่สะดวก รวดเร็ว และไม่เป็นตามวิถีปฏิบัติใหม่ (New Normal) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรเร่งรัดการปรับปรุงกฎ ระเบียบ และข้อปฏิบัติ ภายในหน่วยงานให้รองรับและสนับสนุนการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

6. เรื่อง รายงานประจำปี 2563 คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ

                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติเสนอรายงานประจำปี 2563 คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 มาตรา 16 (6) ที่บัญญัติให้สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานเลขานุการของ กพยช. มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กพยช. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี]    มีผลการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

                   1. ภาพรวมสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย โดยเป็นการรวบรวมสถิติด้านการบริหารงานยุติธรรมที่สำคัญ เช่น 1) สถิติจำนวนคดีที่รับแจ้งจับกุมและจำนวนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ 2) สถิติจำนวนคดีอาญาและคดีแพ่งในศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร 3) สถิติคดีรับเข้าและคดีแล้วเสร็จของศาลปกครองชั้นต้น 4) สถิติจำนวนผู้กระทำผิดซึ่งอยู่ในระบบการพัฒนาพฤตินิสัย และ 5) สถิติการให้บริการประชาชนของสำนักงานยุติธรรมจังหวัด

                   2. ผลการดำเนินงานของ กพยช. และคณะอนุกรรมการ

                             2.1 กพยช. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... เพื่อแก้ปัญหาที่ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในสังคม โดยเฉพาะการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานหรือสถานประกอบการที่ตรงกับความรู้ความสามารถของตนภายหลังการพ้นโทษมาแล้ว และเพื่อให้เป็นกฎหมายกลางในการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม และให้หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บ การเปิดเผยและไม่เปิดเผยประวัติอาชญากรรมให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรม รวมทั้งกำหนดหลักการสำคัญเกี่ยวกับการเปิดเผยประวัติอาชญากรรมที่ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

                             2.2 คณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. มีผลการดำเนินการที่สำคัญ เช่น

                                      2.2.1 คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยในกระบวนการยุติธรรมได้พิจารณาเรื่องที่สำคัญ เช่น แนวทางการนำงานวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมไปใช้ประโยชน์ในช่วงหลังการวิจัยเสร็จ โดยได้เห็นชอบให้ สกธ. เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมงานวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อเผยแพร่ ซึ่งมีกระบวนการ ได้แก่ 1) การนำเสนองานวิจัย 2) การเผยแพร่งานวิจัย 3) การส่งต่องานวิจัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4) การนำเสนอผลงานวิจัยให้ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย                                                                

                                      2.2.2 คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมได้พิจารณาแนวทางการผลักดันแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ยุทธศาสตร์ชาติที่ 5 การขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยมีกรอบการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐด้านกระบวนการยุติธรรม 2) การบริหาร เพื่อพัฒนาระบบโปรแกรมมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริหารประชาชน และ 3) ตัวชี้วัด เพื่อการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลตัวชี้วัดประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญาผ่านระบบ Thai Data Exchange Center (DXC)

                                      2.2.3 คณะอนุกรรมการปฏิรูปด้านการปฏิรูปการพัฒนามาตรการต่อผู้กระทำผิดอาญาแทนการควบคุมตัวโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรสหวิชาชีพและชุมชนได้พิจารณาเรื่องที่สำคัญ เช่น จัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... (การกำหนดโทษระดับกลาง) โดยได้จัดทำรายละเอียดขั้นตอนโทษระดับกลางมาใช้ในประเทศไทยมีกระบวนการ ได้แก่ 1) เงื่อนไขการพิจารณาของศาล 2) การจัดทำรายงานสืบเสาะและพินิจประกอบความเห็นจากสหวิชาชีพ และ 3) การกำหนดมาตรการของศาลและการฝ่าฝืนโทษระดับกลาง

                   3. ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการ (สกธ.) เพื่อสนับสนุนภารกิจของ กพยช. ดังนี้

                             3.1 การพัฒนาข้อมูลและสถิติที่สำคัญต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม เช่น การจัดทำรายงานสถานการณ์อาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม ประจำปี 2562

                             3.2 การจัดทำวารสารกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรม

                             3.3 การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรมตามแนวทางการเผยแพร่กฎหมาย เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ในรูปแบบออนไลน์ เช่น เว็บไซต์รู้กฎหมาย lamp.oja.go.th และในรูปแบบออฟไลน์ เช่น การจัดทำหนังสือและคู่มือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน

                             3.4 การขับเคลื่อนงานด้านกระบวนการยุติธรรมในมิติเชิงพื้นที่ผ่านกรอบแนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดทำแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมและจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน และจัดทำโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

                             3.5 การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น การฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (รุ่นที่ 11) การฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง (รุ่นที่ 15) และโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันอาชญากรรมกับการอำนวยความยุติธรรมในสังคม รุ่นที่ 3 เครือข่ายพลเมืองนักสร้างสรรค์สื่อ เพื่อแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม

 

7. เรื่อง ขอยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   อก. รายงานว่า

                   1. ผู้ที่ได้รับสิทธิการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 กันยายน 2538  คือ บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) โดยกรมทรัพยากรธรณีในขณะนั้น1 ได้ทำสัญญาให้สิทธิการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมดังกล่าวกับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2540 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้คัดเลือกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมในท้องที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการและได้ยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่ 2 จังหวัดดังกล่าว รวม 27 คำขอ ซึ่งพื้นที่คำขอประทานบัตรดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี

                   2. ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแจ้งว่า จะดำเนินการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรและจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ไว้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงมีหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอให้พิจารณากันเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรและพื้นที่ที่บริษัทฯ จะตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ออกจากพื้นที่ที่จะเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมที่มีสัญญาผูกพันไว้กับภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแจ้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีมติผ่อนผันการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าโครงการเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงขอยืนยันที่จะดำเนินการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติฯ ต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชแจ้งว่า ราษฎรในพื้นที่ตำบลปากแพรกได้คัดค้านการขอประทานบัตร รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลควนทองไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการทำเหมืองแร่เช่นกัน

                   3. บริษัทฯ ได้มีหนังสือแสดงความจำนงกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีความประสงค์ที่จะใช้พื้นที่เพื่อกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ฯ และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นว่า บริษัทฯ ไม่ขัดข้องที่จะให้ความร่วมมือโดยจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยขอคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารที่ให้ไว้เพื่อเป็นการยุติสัญญาต่อกันโดยสมบูรณ์ โดยที่ทั้งภาครัฐ และบริษัทฯ จะไม่ได้รับผลกระทบในทางลบใด ๆ จากการยกเลิกสัญญานี้ (บริษัทฯ ยังไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว)

                   4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติหาดขนอม หมู่เกาะทะเลใต้2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ซึ่ง อก. ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีมายัง สลค. ว่า บริษัทฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับภาครัฐได้แสดงความประสงค์ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการที่จะสงวนหรือใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ด้านอื่น และพร้อมยกเลิกสัญญาโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จึงไม่ขัดข้องในการที่ ทส. จะดำเนินการประกาศพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามหนังสือแจ้งเจตจำนงของบริษัทฯ ตามข้อ 3

__________________________

1การดำเนินการทำสัญญาในขณะนั้นมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมทรัพยากรธรณี สังกัด อก. ต่อมาเมื่อปี 2545 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง กรมทรัพยากรธรณีจึงถูกโอนมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการบริหารจัดการเหมืองแร่ถูกโอนให้เป็นหน้าที่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อก.

2เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เห็นว่า เขตพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติฯ ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินและกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ควรให้มีการกันพื้นที่ที่มีความทับซ้อนกับเขตทางหลวงออกจากพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตฯ อุทยานแห่งชาติฯ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) จึงมีคำสั่งให้ ทส. รับร่างพระราชกฤษฎีกาไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ทส.

 

8. เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2564

                   คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ ผ่านระบบการประชุมทางไกล 5 สิงหาคม 2564 (Video Conference) และมอบหมายให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่ กตน. เสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                    ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

ประเด็น  ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน.

1. การบูรณาการมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 12 กระทรวง และ 1 หน่วยงาน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง มีผลการดำเนินการ เช่น

     1.1 ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

          1) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ใน 76 จังหวัด 48,790 ครัวเรือน (2) ดำเนินกิจกรรม ดืองันฮาตี” (ทำดีด้วยใจ) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 5 มิติ 13,533 ครัวเรือน และ (3) พัฒนาและการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย 23,801 ครัวเรือน

          2) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ได้ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงสวัสดิการและการบริการของภาครัฐและการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ และเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์

               1.2 บูรณาการมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ตามข้อตกลงความร่วมมือฯ

                   1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้พบกลุ่มเปราะบางที่ต้องมีการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา 1,639,808 ครัวเรือน และได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด/อำเภอ

              1.3 ดำเนินงานประชาสัมพันธ์การรับรู้ พม. ได้จัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด-19” และจัดตั้งหน่วยเฝ้าข่าวตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 18 ช่องทาง ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :

1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาแนวทางการให้บริการเพื่อให้กลุ่มเปราะบางได้รับโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ

2) ควรให้มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานตามข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน

มติที่ประชุม : รับทราบและเห็นควรให้ สปน. และ พม. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม โดยเน้นการบูรณาการด้านข้อมูล งบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ขอให้เร่งรัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงเป็นลำดับแรก

2. การขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy]

         2.1 ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น การผลักดันให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป และการใช้ BCG เป็นนโบายในระดับต่างประเทศ โดยส่งเสริมการรับรู้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และหามิตรประเทศที่มีศักยภาพด้าน BCG อย่างต่อเนื่อง

         2.2 มาตรการและแผนงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินมาตรการ เช่น (1) พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา (2) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG และ (3) กำหนดให้จัดทำโครงการ Big Rock เพื่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570 ทั้งหมด 47 โครงการ

          2.3 การเพิ่มการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้ดำเนินการ(1) ปรับปรุงประเภทกิจการตามแนวคิด BCG (2) ส่งเสริมการลงทุนตามแนวคิด BCG กว่า 50 ประเภทกิจการย่อย และ (3) มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนแนวคิด BCG

          2.4 การขยายผลการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น อว. [สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)] ได้ขยายผลการประยุกต์ใช้ Smart Technology ไปยัง 14 จังหวัด 1,354 ไร่ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 90 ล้านบาท และส่งเสริมการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ โดยใช้ ตลาดนำการผลิตกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาBCG Model ด้านการเกษตร และจัดทำห่วงโซ่คุณค่าของ BCG Model สาขาการเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการส่งเสริมเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่เมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืน กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้เสนอแนวคิด BCG Model ในภาคพลังงานของไทย และยกร่างแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนโครงการ BCG ของ พน. มท. มีโครงการ Big Rock ที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2570 จำนวน 11 โครงการ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2565

          2.5 การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อว. ได้บรรยายเผยแพร่ความรู้เรื่อง BCG ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจและทวิตเตอร์

          2.6 ข้อเสนอแนะ เช่น อว. เสนอว่าควรเร่งรัดให้เกิดการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ การขึ้นทะเบียน และการกระจายการผลิตปัจจัยการผลิตสู่เกษตรกร กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอว่า ควรส่งเสริมการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรม และ กษ. เสนอว่า ควรจัดทำโครงการให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อน และเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด BCG                ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :

1) การดำเนินงาน BCG เป็นนโยบายที่สำคัญ และรัฐบาลมีวาระในการเข้าร่วมประชุมเอเปค (APEC) ในปี 2565 โดยจะเป็นผู้นำเสนอยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เช่น การนำเสนอความเป็นหุ้นส่วนและความยั่งยืน รวมถึงการกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ภายหลังโควิด-19

2) ควรเชื่อมโยงกับการดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงที่สามารถใช้พื้นที่เกษตรเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก เช่น การลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิลสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยพิบัติ และการกัดเซาะชายฝั่ง

มติที่ประชุม : รับทราบและเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะของ อว. อก. กษ. ทส. กก. กระทรวงการต่างประเทศ และ พน. ไปพิจารณา

3. แผนงานและผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ

          3.1 คณะอนุกรรมการบูรณาการและประสานการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีได้รายงานความคืบหน้าในการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านสวัสดิการรายบุคคลที่เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งการรายงานผล (Dashboard) ดังกล่าวเป็นการแสดงผลของพืชในกลุ่มข้าวซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

      

 

 

 

 

 

 

        3.2 คณะอนุกรรมการด้านการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ได้ดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ในการติดตามสื่อสังคมออนไลน์ การประชาสัมพันธ์การนำนโยบายรัฐบาล ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 และการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม  ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :

1) ควรพัฒนาระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดให้มีหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการDashboard อย่างเป็นรูปธรรม

2) ควรพัฒนารูปแบบการนำเสนอรายงานการแสดงผลฯ

3) ให้คณะอนุกรรมการฯ อาจพิจารณาจัดทำข้อมูลให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทุกชนิด รวมถึงผลไม้และปศุสัตว์ด้วย

มติที่ประชุม : รับทราบและมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการและประสานการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีรับความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา

มติที่ประชุม : รับทราบ

 

4. รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป   

          4.1 ผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไตรมาส 3 กรณีรวมงบกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564) ภาพรวมมีการใช้จ่ายงบประมาณ 2.63 ล้านล้านบาทซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 4.16

          4.2 ผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไตรมาส 3 กรณีไม่รวมงบกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค. 2564) ภาพรวมมีการใช้จ่ายงบประมาณ 2.22 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.02

         4.3 สถานภาพรายการผูกพันใหม่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มีวงเงินทั้งสิ้นเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 32 รายการ เช่น แบบรูปรายการ/TOR แล้วเสร็จ/กำหนดราคากลาง 3 รายการ และประกาศ ประกวดราคา/ประกาศ จัดซื้อจัดจ้าง 3 รายการ            มติที่ประชุม : รับทราบ9. เรื่อง ขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง) วงเงิน 13,500.000 ล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้น จำนวน 800.000 ล้านบาท (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) ดังต่อไปนี้

                   1. เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 13,500.00 ล้านบาท

                   2. เงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800.00 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีขอเจรจาต่ออายุสัญญาเงินกู้ ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.)

(โดยให้ กค. เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดย รฟท. จะดำเนินการกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว สำหรับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป)

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   คค. รายงานว่า

                   1. รฟท. ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 รฟท. คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 60,965.26 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,565.26 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2564 จำนวน 100.00 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท. ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 13,500.00 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 13,500.00 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ ทั้งนี้ รฟท. คาดว่าจะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2564 โดย รฟท. จัดทำประมาณการงบกระแสเงินสดประจำปีงบประมาณ 2565 สรุปได้ ดังนี้

                                                                                                หน่วย : ล้านบาท

รายการ  ประมาณการ

เงินสดรับ

รายได้จากการดำเนินงาน (1)

อาทิ รายได้ค่าโดยสาร รายได้การขนส่งสินค้า ร่ายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงานสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot : ICD) ที่ลาดกระบัง โดย รฟท. ต้องจัดสรรเงินรายได้จากการดำเนินงานไว้เพื่อการจ่ายชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้             13,328.96

เงินกู้เพื่อชำระคืนเงินต้น (Rollover) (2)            44,464.23

เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (3)   3,172.07

รวมเงินสดรับ (4 = 1+2+3)  60,965.26

เงินสดจ่าย

รายจ่ายจากการดำเนินงาน (5)

อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดูแลซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบอาณัติสัญญาณเครื่องกั้น/สัญญาณไฟสีต่าง ๆ ทั่วประเทศ การบำรุงรักษารถจักรและล้อเลื่อน    21,695.41

รายจ่ายลงทุน (6) 4,533.77

ชำระหนี้เงินกู้ (7)

     - เงินต้น

     - ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้         

44,514.13

3,821.94

รวมเงินสดจ่าย (8 = 5+6+7)               74,565.26

เงินสดเกิน (ขาด) (9 = 8-4)  (13,600.00)

เงินสดต้นงวด (10)                100.00

เงินสดเกิน (ขาด) ทั้งสิ้น (10-9)           (13,500.00)นอกจากนี้ รฟท. มีความจำเป็นต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อให้มีวงเงินสำรองไว้ใช้เสริมสภาพคล่อง โดยทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น วงเงิน 800.00 ล้านบาท ด้วยวิธีการขอเจรจาต่ออายุสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้เดิม

                   2. รฟท. จะเป็นผู้รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน และ กค. ค้ำประกันการกู้เงิน รวมทั้งพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม สำหรับการขอยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2551 รฟท. จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 เห็นชอบการกู้เงินดังกล่าวแล้ว

                   3. กค. [สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] คค. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้วเห็นชอบและไม่ขัดข้อง

 

10. เรื่อง กรอบแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบกรอบแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ และประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) เสนอ ดังนี้

                   สาระสำคัญ

                   ค.ต.ป. ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ โดยมีสรุปสาระสำคัญดังนี้

                    1. กรอบแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

                   มุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการการตรวจสอบร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (อ.ค.ต.ป.) คณะต่าง ๆ และคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวง (ค.ต.ป. ประจำกระทรวง) ตรวจสอบการดำเนินงานตามภารกิจ/โครงการ (ongoing process) ของส่วนราชการในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกันในลักษณะห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เพื่อให้ได้ข้อค้นพบและความเสี่ยงที่สำคัญ และจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเพื่อส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า (early warning) ไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ พ.ศ. 2548 ข้อ 13 (4)

                   2. ประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

                   ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 (post-COVID recovery) และยกระดับขีดความสามารถของประเทศรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) เพื่อให้กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ประชาชนมีงานทำ เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องในสภาวะวิกฤต โดยมุ่งเน้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมในภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเศรษฐกิจฐานราก การเยียวยาและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมผ่านเครือข่ายความร่วมมือระดับชุมชน การเสริมสร้างทุนมนุษย์ในการยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ และการพัฒนาระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงการปรับกระบวนการทำงานให้มีการทำงานเชิงรุก (Proactive) ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยมีเป้าประสงค์หลัก 4 ด้าน รวม 8 ประเด็นการตรวจสอบและประเมินผล ประกอบด้วย

                             2.1 ด้านเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเน้นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปยังระดับท้องถิ่น พร้อมรับการกระจายตัวของการพัฒนาและการเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานกลับคืนถิ่น ประกอบด้วยประเด็นตรวจสอบ                    3 ประเด็น ได้แก่

                                      1) การบริหารการจัดการน้ำภาคการเกษตรในการสร้างเกษตรมูลค่าสูง

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบการดำเนินงานในการสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่มีความพร้อมในเกษตรมูลค่าสูง และการเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตการจัดการการตลาดและการจัดส่ง (logistics) สินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุน โดยเฉพาะในส่วนของเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรมูลค่าสูงที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : เพื่อให้ภาคการเกษตรมีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม และสามารถยกระดับไปสู่การเป็นเกษตรมูลค่าสูง

                                      หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

                                      2) การส่งเสริมและการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบการดำเนินงานในการกำหนดนโยบาย/การจัดการการท่องเที่ยวผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวคุณภาพวิถีใหม่ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว/นักเดินทาง การพัฒนาด้านการตลาดและการสื่อสารสร้างการรับรู้ และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในตลาดคุณภาพที่มีมาตรฐานความสะดวก สะอาด ปลอดภัยที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

                                      หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ

                                       3) การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กและเศรษฐกิจฐานราก

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบการดำเนินงานในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างองค์ความรู้ ทักษะ และการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ และพัฒนาระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการ startup

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวสู่ธุรกิจวิถีใหม่ และมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

                                      หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม

                             2.2 ด้านสังคม เพื่อการขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม ในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในการแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มให้ตรงจุด และสร้างหลักประกันทางสังคมระดับชุมชน ประกอบด้วยประเด็นตรวจสอบ 2 ประเด็น ได้แก่

                                      1) การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตให้เข้าถึงบริการภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบการดำเนินงานในการจัดการระดับชุมชน Community) ในการเข้าถึงบริการภาครัฐ การเข้าถึงปัจจัย 4 ประการในการช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤต และกลไกการให้บริการสาธารณะ และเครือข่ายระดับชุมชนในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง (การระดมทุน/การจัดการ)

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : กลุ่มเปราะบางได้รับการช่วยเหลือและโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสมดุลและสร้างความเสมอภาคในสังคม

                                      หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย

                                      2) ต้นแบบความร่วมมือระดับชุมชนในการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบกลไกการจัดการชุมชนและการสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น การจัดการแหล่งทุนระดับชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) การจัดการสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชน และการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชุมชน (ป่าชุมชน) รวมถึงการค้นหาต้นแบบการจัดการชุมชนเข้มแข็งภายใต้สภาวะวิกฤต

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนในระดับจังหวัด

                                      หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข

                             2.3 ด้านการพัฒนาศักยภาพคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทุกสาขาอาชีพและทุกช่วงวัยให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยประเด็นตรวจสอบ 2 ประเด็น ได้แก่

                                      1) การพัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบการดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมั่งคงและยั่งยืน รวมถึงการสร้างระบบรับรองมาตรฐานการศึกษาในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ การออกแบบและพัฒนาทักษะกำลังคน (Up-Skill Re-Skill and New-Skill) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สังคม ชุมชน สถาบันการศึกษา และเอกชนในการสร้างกลุ่มภาคีการศึกษาและการทำงาน

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : ส่งเสริม สนับสนุนให้แรงงานได้รับการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการพึ่งพาและการจัดการตนเองในการรองรับตลาดแรงงานรูปแบบใหม่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่ยั่งยืน

                                      หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

                             2) การเสริมสร้างผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต

                             ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบกลไกการจัดการในการเข้าถึงบริการสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคต การออกแบบระบบการจัดการและการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ และการจัดการการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต

                             เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : ผู้สูงอายุมีความสามารถในการจัดการตนเองและมีความมั่งคงด้านรายได้ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมอย่างยั่งยืน

                             หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง

                             2.4 ด้านการบริหารการจัดการภาครัฐ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการประชาชน ประกอบด้วยประเด็นตรวจสอบ 1 ประเด็น ได้แก่

                                      1) การสร้างระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

                                      ขอบเขตและจุดเน้นในประเด็นการตรวจสอบ : ตรวจสอบการดำเนินงานในการจัดทำข้อมูลสำคัญภาครัฐและข้อมูลเปิดรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล การพัฒนาเครื่องมือกลางและโครงสร้างพื้นฐาน (Digital Infrastructure) การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบภายในที่เอื้อต่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมถึงรองรับรูปแบบการทำงานที่บ้าน (work from home) ของหน่วยงานภาครัฐ

                                      เป้าหมายที่ต้องการผลักดัน : หน่วยงานภาครัฐสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องในสภาวะวิกฤต และประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกจากงานบริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

                                      หน่ายงานที่เกี่ยวข้อง : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กระทรวงมหาดไทย

 

 

11. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ฤดูการผลิต 2562/2563 และรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ที่เห็นชอบในหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ฤดูการผลิต 2562/2563 (โครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบฯ) เป็นกรณีเฉพาะ และรับทราบรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ (คณะกรรมการฯ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

                   โดยเห็นควรให้ กค. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบที่เข้าร่วมการปรับเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นแทนการปลูกยาสูบหรือปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ ยสท. พิจารณาดำเนินการวางแผนการเพาะปลูกต้นยาสูบในวงจรการผลิตรอบปีต่อไป โดยประสานกับ กษ. สร้างการรับรู้และให้ข้อมูลกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบรับทราบสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงการเตรียมการวางแผนการผลิตและลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกต้นยาสูบในปีต่อไป ตลอดจนเร่งดำเนินการหาพืชทดแทนการปลูกใบยาสูบให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ และติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการดำเนินงาน เพื่อให้ทราบปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

                   สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเมื่อได้ข้อยุติที่ชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้ ยสท. จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือ พร้อมทั้งตรวจสอบสิทธิของเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบที่จะได้รับความช่วยเหลือให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

 

12. เรื่อง ขอความเห็นชอบกรอบวงเงินกู้เงินระยะสั้น (Credit Line) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินกู้เงินระยะสั้น (Credit Line)1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ กฟภ. สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

___________________

1 Credit Line คือ วงเงินสินเชื่อที่ขยายโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินให้กับรัฐบาล ธุรกิจ หรือลูกค้ารายบุคคลที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น

 

13. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) (โรคโควิด 19) (โครงการสินเชื่อฯ) รวมถึงอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 135 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น เห็นสมควรให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

                    ทั้งนี้ กค. ได้รายงานผลการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (โรคโควิด 19) (โครงการสินเชื่อฯ) และเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระหนี้เพื่อประคับประคองและฟื้นฟูภาคธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19             ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง กค. (ธพว.) จึงเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโครงการสินเชื่อฯ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ เช่น 1) ปรับวัตถุประสงค์การกู้ให้ครอบคลุมถึงการลงทุน ขยาย และปรับปรุงกิจการ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ 2) ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 10 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี) และ 3) ปรับเงื่อนไขการชดเชยของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ และจากการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น กค. (ธพว.) จึงมีความจำเป็นต้องขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวนไม่เกิน 135 ล้านบาท

 

14.  เรื่อง การขยายระยะเวลาการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอดังนี้

                   1. ขยายระยะเวลาการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

                   2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ Special Tourist VISA (STV) และ เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช)

                   3. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป

 

15. เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้

                   1. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อนายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน หากเอกสารครบถ้วนนายทะเบียนจะพิจารณาอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าว จากนั้นต้องมีการประกันสุขภาพ ตรวจสุขภาพ และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เพื่อไปดำเนินการขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่    1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะได้รับรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

                             ทั้งนี้ ในการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวดังกล่าว สามารถประกันสุขภาพได้กับโรงพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยในประเทศตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนด

                             โดยการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

                             1.1 กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ดังนี้

                                      1) อนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เพื่อขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

                                      2) อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ ให้คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565

                                      3) คนต่างด้าวสามารถทำงานได้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายจ้าง โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมโรคซึ่งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานครกำหนด

                                      4) มิให้นำมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวดังกล่าวถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

                                      ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งทำงานในสถานประกอบการ โรงงาน หรืองานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ..................................................

                             1.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดำเนินการ ดังนี้

                                      1) การเข้าไปตรวจ สถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและคนต่างด้าว โดยมีระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว 30 วัน ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

                                      2) เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงานและสถานที่ทำงานดังกล่าว หากพบคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ รวมทั้ง ชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน และเมื่อนายทะเบียนตรวจสอบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานว่าถูกต้องและครบถ้วนให้นายทะเบียนออกใบขออนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด ทั้งนี้ คนต่างด้าวมีสิทธิทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่มิได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำโดยให้นำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 และประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม และสามารถทำงานได้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายจ้าง โดยการเคลื่อนย้ายดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมโรคซึ่งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานครกำหนด

                                      3) มิให้นำมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่นายจ้างและคนต่างด้าว ที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายในระยะเวลาที่กำหนด

                                      ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งทำงานในสถานประกอบการโรงงาน หรืองานก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .............................................

                             1.3 กระทรวงสาธารณสุข และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2563 และขายประกันสุขภาพ ให้กับคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและคนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้ซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เว้นแต่คนต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งผ่านการตรวจโรคต้องห้ามฯ ที่ได้ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย เป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว โดยอัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันภัย

                             1.4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการดังนี้

                                      1) จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลต่างด้าว ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายในวันที่                  31 มีนาคม 2565

                                      2) ตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565

                             1.5 กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด

                   2. คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

                             2.1 กระทรวงมหาดไทย ปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และที่เกี่ยวข้อง โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

                             ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ ..)

                             2.2 กระทรวงแรงงาน ออกประกาศปรับปรุงแก้ไข ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

                                      1) กรมการจัดหางานพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวที่นายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และในระหว่างที่ยังมิได้รับใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวใช้ใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขอดังกล่าวเสมือนใบอนุญาตทำงาน เพื่อเป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

                                      2) ให้กรมการจัดหางานมีอำนาจกำหนดเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนได้ตามที่เห็นสมควรไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งกำหนดการดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะกรณี

                                      ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 (ฉบับที่ ..)

                   3. หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 

16. เรื่อง ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,008 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนฯ) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่ผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) ตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กระทรวงการคลังเสนอ

                   สาระสำคัญ

                   การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่)

                   วัตถุประสงค์: เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กองทุนฯ คาดว่าจะดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย อาจทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านคุณสมบัติของโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) จำนวนเพิ่มมากขึ้น

                   ดังนั้น เพื่อรองรับจำนวนผู้มีบัตรฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายใต้โครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) จึงเห็นควรขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ

                   รายละเอียด: การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ เป็นไปตามรูปแบบเดิมที่ได้มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

                   1) ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย (1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยให้วงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และ (2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

                   2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย (1) วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ  (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน (2) วงเงินค่าโดยสารรถบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ (3) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน

                   3) การเพิ่มเบี้ยความพิการ จากจำนวน 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นจำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

                   งบประมาณ: ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,008 ล้านบาท

                   ผลกระทบ

                   สามารถบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีบัตรฯ โดยการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

17. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 254/2564 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2)

                   ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 238/2563 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 และต่อมาได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 65/2564 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 นั้น

                   เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้

                   1. ให้เพิ่มเติมข้อความต่อไปนี้เป็น ข้อ 1.1.5 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 238/2563 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

                             “1.1.5  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เฉพาะ กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร)

                   2. ให้ยกเลิกความในข้อ 4.1.2 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 238/2563 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

                             “4.1.2  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยกเว้น กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร)

                   ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

18. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค กรอบวงเงิน 278,928,300 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ

                   สาระสำคัญ

                   โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

                   1. หลักการและเหตุผล

                   ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายนานัปการ เช่น การขาดความรู้ของเกษตรกร ผลผลิตล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนน้ำสลับกับปัญหาอุทกภัย ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม เนื่องจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตร และการเติบโตของเมือง ปัญหาการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร และความท้าทายจากภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น การเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร และความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นส่งผลกระทบ ต่อความสามารถในการแข่งขัน ความยากจนของเกษตรกรรายย่อยและนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้านรายได้ในที่สุด การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร โดยส่งเสริมให้มีการรวมตัวเพื่อดำเนินกิจกรรม และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเรื่องการผลิต การแปรรูป การตลาด อาชีพเสริม และอื่น ๆ ตามความเหมาะสม พัฒนาและขยายผลการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างความภาคภูมิใจ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกร

                   การดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนาทั้งประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านการเกษตรและประโยชน์เพื่อเกษตรกรที่จะได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป เพื่อให้เกษตรกรทุกคนได้รับการพัฒนาเป็นเกษตรกรที่มีความพร้อมรับกับสถานการณ์ด้านการเกษตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรไทยมีความพร้อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพการเกษตร เป็นบุคคลที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกร มีความรอบรู้ในระบบการผลิต ด้านการเกษตรแต่ละสาขา มีความสามารถในการวิเคราะห์เชื่อมโยงและการบริหารจัดการการผลิต และการตลาดโดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค สังคมและสิ่งแวดล้อม และถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกร

                   การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไทยให้มีความพร้อม มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่เกษตรกรดำเนินการ ให้ความสำคัญในการใช้องค์ความรู้และข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การนำเทคโนโลยี ภูมิปัญญา และวิธีการปฏิบัติที่ดีมาใช้หรือพัฒนา โดยตระหนักถึงคุณภาพมาตรฐานและปริมาณความต้องการของตลาด มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ ตลอดจนสามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และช่วยพัฒนาเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป

                   จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยและโลกเผชิญในปัจจุบันจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้านทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน การติดต่อเดินทาง การทำธุรกิจ การดำรงชีวิต การจับจ่ายใช้สอย ทำให้โลกเข้าสู่ยุค New Normal ที่ทุกคนจะต้องระมัดระวังตัวเองมิให้อยู่ในความเสี่ยงของการติดเชื้อ นอกจากนั้นรัฐบาลยังทำโครงการช่วยเหลือประชาชนเพื่อเยียวยาในช่วงโควิดได้แก่ โครงการเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเยียวยากลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โครงการเราชนะ โครงการ ม 33 เรารักกัน เป็นต้น โครงการดังกล่าวนั้นส่งผลให้พฤติกรรมของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประชาชนต้องเข้าถึงสมาร์ทโฟนเพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการไม่ว่าจะเป็นด้านประชาชนหรือร้านค้า พฤติกรรมของประชาชนมีการใช้สมาร์ทโฟนในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้การใช้สมาร์ทโฟนในการซื้อของ ชำระเงิน กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไป

                   ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่ดีในการยกระดับเกษตรกรให้พบกับผู้บริโภคโดยใช้เครือข่ายต่าง ๆ ที่มีระบบ BIG DATA และ DATA COMMON เป็นตัวกลางในการผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรนำผลผลิตที่ได้ไปขายยังผู้บริโภคโดยตรงผ่านโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค

                   2. วัตถุประสงค์

                             2.1 เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรให้มีศักยภาพทั้งทางด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดเพื่อเชื่อมโยงกับผู้บริโภค โดยเสริมสร้างมาตรฐานการเกษตรที่รับผิดชอบต่อสังคมและมีธรรมาภิบาล

                             2.2 เพื่อสร้างเพลทฟอร์มและเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลเกษตรกรและการสร้างช่องทางการตลาด

                             2.3 ประชาสัมพันธ์โครงการและเพลทฟอร์มให้มีการรับรู้ในวงกว้างของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะเกษตรและผู้บริโภคเพื่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้งานเพลทฟอร์ม

                             2.4 สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรและมีการดำเนินการที่มีมาตรฐานต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสถาบันเกษตรกรเพื่อให้สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมทั้งสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองต่าง ๆ สนับสนุนให้เกษตรกร มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและดำเนินการส๋งเสริมและพัฒนา สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพเกษตรกรและที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น

                   3. วิธีดำเนินการ

                   การแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 4 ระยะคือ

                             3.1 กิจกรรมระยะที่ 1 ศึกษาและออกแบบระบบการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร

                                      1) ศึกษาข้อมูลด้านปฐมภูมิและทุติยภูมิ รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงาน

                                      2) ทำการศึกษาความต้องการของเกษตรกรและความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค

                                      3) กำหนดแผนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรสู่ผู้บริโภค

                                      4) กำหนดแผนจัดทำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาลทางการเกษตร

                             3.2 กิจกรรมระยะที่ 2 การพัฒนาระบบ มาตรฐาน และสรรหาอาสาสมัครเกษตรชุมชน (อกช.) ด้วยการสร้างเครื่องมือในอบรม อกช. และเตรียมระบบการรับ Data Common การจัดการข้อมูล การประเมิน กำหนดแนวทางพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภค การกำหนดมาตรฐาน KasetCSR และ kasetGovernance อบรม อกช. ระยะที่หนึ่ง และการประชาสัมพันธ์ระยะที่หนึ่ง

                                      1) ประชุมเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มเกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตั้งเป้าหมายร่วมกันเกี่ยวกับการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร รูปแบบของเครื่องมือในการช่วยในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกร และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและดัชนีธรรมาภิบาล

                                      2) สรรหา อกช. โดยเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่และมีพี่เลี้ยงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์

                                      3) การอบรม อกช. ในการใช้แอปพลิเคชันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ระยะที่หนึ่ง

                                      4) วิเคราะห์และออกแบบเครื่องมือในการอบรม อกช.ออนไลน์ และออกแบบพัฒนาระบบร่วมกันรวมถึงวางแนวทางการสร้างเครื่องมือแอปพลิเคชัน

                                      5) ประชาสัมพันธ์โครงการทุกช่องทางให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้แอปพลิเคชันในการซื้อขายสินค้า

                             3.3 กิจกรรมระยะที่ 3 การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกร

                             1) ทีม อกช. ลงพื้นที่สรรหาเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ระยะที่หนึ่ง โดยจะทำหน้าที่คัดกรองเกษตรกรที่เหมาะสมและจัดทำและนำข้อมูลเข้าแอปพลิเคชันพร้อมทั้งสำรวจความต้องการของผู้บริโภค

                             2) การอบรม อกช. ในการใช้แอปพลิเคชันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ระยะที่สอง

                             3) ใช้เครื่องมือที่ได้รับการสร้างและพัฒนาไปใช้ในกระบวนการเก็บข้อมูลและส่งเสริมทางด้านการตลาด

                             4) ติดตามการใช้เครื่องมือในการช่วยบริหารจัดการและประเมินผลเครื่องมือแอปพลิเคชัน โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปรับปรุงกระบวนการดำเนินการหรือการพิจารณากระบวนการด้านเอกสารต่าง ๆ

                             5) ประชาสัมพันธ์โครงการทุกช่องทางให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้แอปพลิเคชันในการซื้อขายสินค้า

                             3.4 กิจกรรมระยะที่ 4 สรุปผลประเมินโครงการ

                             1) ทีม อกช. ลงพื้นที่สรรหาเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 2

                             2) ประเมินผลการดำเนินงานโครงการ

                             3) จัดส่งวีดฺทัศน์การดำเนินงานของโครงการความยาว 5 นาที และ 15 นาที

                   4. ระยะเวลา

                   ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เริ่มเดือน กันยายน 2564)

                   5. งบประมาณ

                   วงเงินรวม 278,928,300 บาท

                   6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                             6.1 เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการพัฒนาตนเองร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีทัศนคติ และพฤติกรรมที่ดีต่อความร่วมมือในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานในอนาคต

                             6.2 เกษตรกรได้รับการพัฒนาอย่างครอบคลุมทั่วถึงและได้ทราบแนวทางการพัฒนาตนเอง สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญเพื่อวางแผนลดต้นทุนการผลิต สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืน

                             6.3 เพิ่มช่องทางการตลาดโดยที่เกษตรกรสามารถติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรงในการซื้อขายและส่งมอบสินค้า โดยปราศจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการตลาดได้

 

ต่างประเทศ19.  เรื่อง  รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย - คาซัคสถาน

                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - คาซัคสถาน (บันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   คค. รายงานว่า

                   1. คณะผู้แทนประเทศไทยและประเทศคาซัคสถานได้จัดการประชุมเจรจาร่วมกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน (กรุงอัสตานาเดิม) ประเทศคาซัคสถานและได้จัดทำพร้อมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกันในวันดังกล่าว และต่อมาคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 โดยบันทึกความเข้าใจฯ และหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตที่เสนอมาในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ สรุป ได้ดังนี้

รายการ  สาระสำคัญ

การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน             สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินในเส้นทางที่ตกลงกันโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันในลักษณะ (1) ร่วมกันกับสายการบินระหว่างคู่ภาคี (2) ร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม หรือ (3) ร่วมกันกับสายการบินของภาคีคู่สัญญาเดียวกันได้ โดยการนับหักสิทธิความจุความถี่จะหักจากสิทธิของประเทศที่กำหนดสายการบินผู้ดำเนินบริการเท่านั้น (Operating Airline)

ใบพิกัดเส้นทางบิน

 

                สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินตามเส้นทางบิน ดังต่อไปนี้

ไทย จุดใด ๆ ในไทย จุดระหว่างทาง 2 จุดที่จะตกลงกัน - อัลมาตี อัสตานา คารากานดี ชิมเคนท์และจุดในคาซัคสถานอีก 2 จุดที่จะตกลงกัน - จุดพ้น 2 จุดที่จะตกลงกัน

คาซัคสถาน  จุดใด ๆ ในคาซัคสถาน - จุดระหว่างทาง 2 จุดที่จะตกลงกัน - กรุงเทพ ภูเก็ต อู่ตะเภา กระบี่ และจุดในไทยอีก 2 จุดที่จะตกลงกัน - จุดพ้น 2 จุดที่จะตกลงกัน ทั้งนี้ สายการบินที่กำหนดของทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 51

การแต่งตั้งสายการบินที่กำหนด

 

                แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะกำหนดสายการบินสายหนึ่ง หรือหลายสาย เพื่อดำเนินบริการที่ตกลง

[คงไว้ตามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับลงนามเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 (ตามข้อ 2.3)]

ความจุความถี่       กรุงเทพ-อัลมาตี : 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์

กรุเทพ-อัสตานา : 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์

ช่วงเส้นทางอื่นใด : 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์/ช่วงเส้นทาง

[คงไว้ตามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับลงนามเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 (ตามข้อ 2.3)]

­­­­­­­­­___________________

1 เสรีภาพทางการบิน หมายถึง สิทธิในการดำเนินบริการเดินอากาศแบบประจำระหว่างประเทศ โดยแต่ละประเภทมีความหมาย ดังนี้ เสรีภาพที่ 1 อนุญาตให้สายการบินบินผ่านน่านฟ้า เสรีภาพที่ 2 อนุญาตให้สายการบินแวะจอด เช่น เติมน้ำมันกรณีฉุกเฉิน เสรีภาพที่ 3 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศของตนไปยังประเทศอื่น เสรีภาพที่ 4 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศอื่นไปยังประเทศของตน เสรีภาพที่ 5 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศคู่ตกลงไปยังประเทศที่สาม

                 

20. เรื่อง การพิจารณารับรองร่างปฏิญญาของกลุ่ม 77 และจีน (Ministerial Declaration of the Group of 77 and China to UNCTAD XV: From inequality and vulnerability to prosperity for all) และร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV (The Bridgetown Covenant: From inequality and vulnerability to prosperity for all)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาของกลุ่ม 77 และจีน (Ministerial Declaration of the Group of 77 and China to UNCTAD XV: From inequality and vulnerability to prosperity for all) และร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV (The Bridgetown Covenant: From inequality and vulnerability to prosperity for all) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ

                   ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

                   สาระสำคัญ

                   1. ภาพรวม UNCTAD XV จะประชุมภายใต้หัวข้อ “From inequality and vulnerability to prosperity for all” ซึ่งจะเป็นการประชุมระดับสูงของ UNCTAD ครั้งแรกภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางด้วยการสร้างหลักประกันว่าระบบการค้าก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน และวาระการพัฒนาจะยังมีความสำคัญในเวทีโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาแนวทางการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และจัดการความท้าทายที่ประเทศกำลังพัฒนาประสบทางด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี ในการฟื้นตัวจากโควิด-19

                   2. ร่างปฎิญญาของกลุ่ม 77 และจีน (Ministerial Declaration of the Group of 77 and China to UNCTAD XV: From inequality and vulnerability to prosperity for all) เป็นเอกสารท่าทีที่แสดงความมุ่งมั่นของกลุ่ม 77 และจีนต่อบทบาทและภารกิจของ UNCTAD ตลอดจนผลการประชุม UNCTAD XV ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปและจะเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลุ่ม 77 และจีนพิจารณาและให้การรับรองในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมดังกล่าว ผ่านระบบการประชุมทางไกล

                   3. ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม UNCTAD XV (The Bridgetown Covenant: From inequality and vulrerability to prosperity for all) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา โดยจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับรองระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2564 โดยร่างเอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

                             3.1 ผลกระทบของโควิด-19 ต่อการค้าและการพัฒนา

                             3.2 ความท้าทายระดับโลก เช่น ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็ว

                             3.3 การส่งเสริมความเข้มแข็ง (resilience) ความทั่วถึง และความยั่งยืนด้วยการสร้างความหลากหลาย เศรษฐกิจสีเขียวและยืดหยุ่น การพลิกโฉมการระดมทุนเพื่อการพัฒนา และการพลิกโฉมระบบพทุภาคีนิยม

                             3.4 การพัฒนาบทบาทของ UNCTAD ในการจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การฟื้นฟูกลไกระหว่างรัฐ (Intergovernmental machinery) และการจัดทำแผนงานของ UNCTAD ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม UNCTAD XV ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า

 

21. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26

                   คณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video conference) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

                   ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 สรุปสาระสำคัญ อาทิ

                   1) การชื่นชมความพยายามและความก้าวหน้าที่โดดเด่นของภูมิภาค แม้จะมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน  อันเกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ในการบรรลุแผนงานหลักสามประการของการเป็นประธานอาเซียนของประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้แก่ (1) การสร้างประชาคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีภูมิคุ้มกันโดยส่งเสริมให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (ประชาคมที่ห่วงใย) (2) การเตรียมความพร้อมและการปรับตัวสำหรับโอกาสและความท้าทายในอนาคต เพื่อทำให้แน่ใจว่าอาเซียนจะดำรงความสำคัญและมีภูมิคุ้มกันเพื่อเอาชนะความท้าทายและภัยคุกคามในปัจจุบันและในอนาคตต่าง ๆ ได้ (ประชาคมที่เตรียมพร้อม) และ (3) การสร้างโอกาสและประโยชน์ให้แก่ประชาชนผ่านแผนงานที่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนของภูมิภาค (ประชาคมที่ก้าวหน้า)

                   2) การชื่นชมการดำเนินการที่ครอบคลุมขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากช่องว่างและความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค ในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ข้อมูลเท็จ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการนำข้อเสนอแนะจากการประเมินผลครึ่งแผนของแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 มายกระดับความพยายามในการเสริมสร้างประชาคมอาเชียน โดยการผนวกรวมและปรับปรุงการดำเนินการตามแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 ให้สอดรับกับแผนงานรายสาขาของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนภายหลังปี 2563 และกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) ตามลำดับ

                   3) การเน้นย้ำถึงความจำเป็นของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับงานเชิงสถาบันที่มีอยู่เดิมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการประสานงานข้ามสาขาและข้ามเสา โดยเฉพาะการประสานงานที่มีเป้าหมายในการฟื้นตัวและการบรรจุวิสัยทัศน์ ประชาสังคมอาเซียนภายหลังปี พ.ศ. 2568 ในขณะที่ยังคงธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนผ่านกลไกต่าง ๆ ที่นำโดยอาเซียน

                   4) การมุ่งหวังที่จะดำเนินการตามความริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมของอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองของอาเซียนต่อกรณีฉุกเฉินและภัยพิบัติ (ASEAN Strategic and Holistic Initiative to link ASEAN Responses to Emergencies and Disasters: ASEAN SHIELD) การรับทราบตารางข้อมูลการเชื่อมโยงระหว่างความริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ฯ กับข้อริเริ่มระดับภูมิภาคที่มีอยู่เดิมว่าด้วยภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินและชุดข้อเสนอแนะในการแปลงข้อริเริ่มต่าง ๆ ของอาเซียนไปเป็นกรอบการดำเนินงานระดับภูมิภาค

                   5) การรับรองกรอบนโยบายยุทธศาสตร์อาเชียนว่าด้วยการส่งเสริมการปรับตัวของประชาคมอาเซียนสำหรับความเข้าใจ การยอมรับ และการรับรู้เกี่ยวกับวาระระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในหมู่ประชาชนอาเซียน และการแสดงความยินดีต่อประเทศบรูไนดารุสซาลามเกี่ยวกับความสำเร็จในการจัดเวทีเสวนานวัตกรรม การจ้างงานเยาวชน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมุมมองของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564 และคาดหวังว่าความสำเร็จในการจัดเวทีเสวนานวัตกรรมฯ ครั้งที่ 1 จะนำไปสู่การขยายผลในการจัดเวทีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป

                   6) การรับรองกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใส่ใจที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN

Comprehensive Framework on Care Economy) ในฐานะข้อริเริ่มที่จะเป็นแนวทางให้แก่ภูมิภาคในการจัดการกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของการลงทุนอย่างยั่งยืนในงานด้านการดูแล และเพื่อให้องค์ประกอบของงานด้านการดูแลทั้งหมดกลายเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมของอาเซียน และการรับทราบยุทธศาสตร์ 6 ประการที่คาดว่าจะสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจใส่ใจของอาเซียน รวมถึงเป็นส่วนเสริมของกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนและวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี พ.ศ. 2568

                   7) การชื่นชมความก้าวหน้าของข้อริเริ่มสำคัญว่าด้วยการตอบสนองต่อโควิด 19 ที่นำไปสู่การเตรียมความพร้อมของภูมิภาคต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคต ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ การพัฒนาระบบประสานงานด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของอาเซียน และการเปิดตัวเว็บไซต์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ที่ประชุมยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะในด้านการจัดการกับผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลกต่อสุขภาพจิต

 

22. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสาร ASEAN Protocol for Preparedness and Response to a Nuclear or Radiological Emergency     

                   คณะรัฐมนตรมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารคู่มืออาเซียนสำหรับการเตรียมรับมือและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์หรือเหตุฉุกเฉินทางรังสี (ASEAN Protocol for Preparedness and Response to a Nuclear or Radiological Emergency) (ร่างเอกสารฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และมอบหมายให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แจ้งการเห็นชอบร่างเอกสารฯ ของประเทศไทยต่อเครื่อข่าย ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy (ASEANTOM) ต่อไป ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

                   สาระสำคัญ

                   การประชุมประจำปี ครั้งที่ 8 ของเครือข่าย ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy (ASEANTOM) ได้จัดขึ้นแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 5 – 9 กรกฎาคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้ประเทศสมาชิกเครือข่าย ASEANTOM  ให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาของร่างเอกสาร  ASEAN Protocol for Preparedness and Response to a Nuclear or Radiological Emergency (ร่างเอกสารฯ) เพื่อให้เครือข่าย ASEANTOM สามารถนำร่างเอกสารดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมอาวุโสอาเซียนให้ความเห็นชอบในเดือนกันยายน 2564 โดยร่างเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารทางวิชาการสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียนใช้เป็นคู่มือในการเตรียมการรับมือและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์หรือเหตุฉุกเฉินทางรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการและกิจกรรมต่าง ๆ ทางนิวเคลียร์และรังสีภายในภูมิภาค เช่น การเตรียมการเพื่อรับมือและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งเกิดขึ้นภายในประเทศสมาชิกอาเซียน หรือสามารถเกิดขึ้น ณ ที่ใดที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ การแบ่งปันข้อมูล (information sharing) การประเมินผลรังสี (assessment) การสนับสนุนด้านการตัดสินใจ (support for decision making) และการสื่อสาร (public communication)

 

23. เรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Chair’s Summary of Asia Green Growth Partnership Ministerial Meeting)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Chair’s Summary of Asia Green Growth Partnership Ministerial Meeting) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานและคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ กับรัฐมนตรีหรือผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเติบโตสีเขียว (Asia Green Growth Partnership Ministerial) ในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกลตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

                   สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ มีประเด็นสาระสำคัญ 4 หัวข้อ สรุป ดังนี้

                   1. แนวคิดหลักของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในเอเชีย ผู้เข้าร่วมประชุมฯ มองว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้นั้น มีหลากหลายแนวทาง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศและการตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยที่ประชุมเห็นว่าแนวทางการเลือกใช้เชื้อเพลิง เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน จะสามารถช่วยผลักดันเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงหลัก S+3E (ความมั่นคงด้านพลังงาน ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาผ่านนวัตกรรมและการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

                   2. ความพยายามสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในเอเชีย ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ต่างยอมรับว่าการดำเนินการเชิงรุกเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการเรื่องเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน แต่ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมและครอบคลุมในทุกภาคส่วนโดยการพิจารณาจากบริบทของประเทศนั้น ๆ และต้องมีความสอดคล้องกับความตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพลังงาน โดยที่ประชุมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดตั้งกลไกเพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุนในการนำมาพัฒนาเทคโนโลยีและโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้แนวทางการดำเนินงานของแต่ละประเทศยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย ได้แก่ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่งที่ประชุมฯ มีความยินดีกับการให้การสนับสนุนของหน่วยงานดังกล่าว

                   3. ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานในเอเชีย ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในด้านต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระดับโลก ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะทำให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้โดยยังคงสามารถพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก                ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศกำลังพัฒนาต้องการการสนับสนุนในหลายด้าน ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีความยินดีที่ข้อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเอเชียซึ่งเริ่มโดยประเทศญี่ปุ่น (AETI) จะมีการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านในเอเชีย การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนา และการแบ่งปันองค์ความรู้ซึ่งจะสามารถนำมาช่วยสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาต่อไปได้

                   4. แนวทางในอนาคต ที่ประชุมรับทราบถึงความสำคัญของทวีปเอเชียและทวีปอื่น ๆ ที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอนาคต ผ่านเวทีการหารือร่วมกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาในระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอนาคตต่อไปได้ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันว่าควรมีการผลักดันกิจกรรมโครงการที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดการเติบโตสีเขียวต่อไป โดยประเทศญี่ปุ่นกำหนดว่าจะมีการดำเนินการจัดประชุมเช่นนี้อีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2565 ต่อไป 

 

24. เรื่อง ขอความเห็นชอบการรับรองร่างเอกสาร Joint Statement of the Fifth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting และ Joint Statement of the Fifth East Asia Summit Education Ministers Meeting

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสาร Joint Statement of the Fifth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting และ Joint Statement of the Fifth East Asia Summit Education Ministers Meeting รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทนให้ความเห็นชอบและรับรองร่างเอกสาร Joint Statement of the Fifth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting และ Joint Statement of the Fifth East Asia Summit Education Ministers Meeting ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 5 (the Fifth ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 5 (the Fifth East Asia Summit Education Ministers Meeting) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

                   1. สาระสำคัญของเอกสารแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 5 ดังนี้

                             1) การประชุมครั้งนี้มี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐเกาหลีเป็นประธานร่วมการประชุม โดยในปี พ.ศ. 2565 - 2566 ประเทศเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีน จะทำหน้าที่ประธานร่วมการประชุม

                             2) ประเด็นหลักคือ การปรับเปลี่ยนการศึกษาตามวิถีอาเซียน : การเสริมสร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วนในยุคที่โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพวกเราตระหนักถึงผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ต่อระบบการศึกษาของชาติและความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับภูมิภาค

                             3) การช่วยเหลือของประเทศสมาชิกบวกสามที่มีแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงความคิดริเริ่มของอาเซียนในด้านการศึกษา ได้แก่ (1) การรับรองและการยังคงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2561 - 2568 (2) การจัดประชุมคณะทำงานด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 8 อย่างประสบความสำเร็จ (3) การรับรองแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนบวกสามของคณะทำงานอาเซียนบวกสาม

                             4) การแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่มีการประกันคุณภาพระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม การรับรองแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม และการจัดทำแนวปฏิบัติร่วมในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษารูปแบบใหม่ ๆ ในภูมิภาคอาเซียนบวกสามให้แล้วเสร็จ

                             5) การสนับสนุนทุนการศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี ในการลดช่องว่างทักษะด้านอาชีวศึกษาผ่านโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีที่ดำเนินการอยู่ การจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-learning ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ของสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่นที่สนับสนุนการจัดมุมอาเซียนในมหาวิทยาลัยของประเทศสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือก

                   2. สาระสำคัญของเอกสารแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา มีดังนี้

                             1) การประชุมครั้งนี้มีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยในปี พ.ศ. 2565 ประเทศเวียดนามจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุม

                             2) ความก้าวหน้าและการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการดำเนินการตามประเด็นความร่วมมือสำคัญ 14 ประเด็นภายใต้แผนปฏิบัติการมะนิลาเพื่อต่อยอดปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านพัฒนาของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (พ.ศ. 2561-2565)

                             3) ความกังวลถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อระบบการศึกษา ของชาติและความร่วมมือด้านการศึกษาระดับภูมิภาค ความมุ่งมั่นและการดำเนินการโดยทันท่วงทีของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก รวมถึงหุ้นส่วนความร่วมมือในการปกป้องการศึกษาและจัดการกับความท้าทายอันเนื่องมาจากวิกฤตระดับโลก

                             4) การรับรองแผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2564-2568 และการหารือที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการรับรองแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ. 2564-2568 ความพยายามฟื้นฟูอาเซียน ผ่านกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Framework-ACRF) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไปสู่ระบบดิจิทัล โดยส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะในศตวรรษที่ 21 ในหมู่เด็กและเยาวชน

                             5) ชมเชยออสเตรเลียที่มีคุณูปการมาอย่างยาวนานต่อการจัดทำข้อริเริ่มกรอบคุณวุฒิอาเซียน การอนุมัติโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน-อินเดียและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา ในการจัดสรรทุนการศึกษาและส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในภูมิภาคที่มีคุณภาพ

                             6) การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น และแสวงหาความร่วมมือในการดำเนินโครงงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ รวมถึงการศึกษาและฝึกอบรมด้านการเทคนิคอาชีวศึกษา

 

25. เรื่องการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ (Memorandum of Understanding on Cooperation in the Field of Education between the Ministry of Education of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Education and Culture of the Republic of Finland) ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงศึกษาธิการหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

                   สาระสำคัญ

                   ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยมีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ระบบการประเมินผล และงานวิจัยทางการศึกษา การส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงการอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาตลอดชีวิต ตลอดจนความร่วมมือในการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

 

26. เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (ASEAN Joint Statement to the Fifteenth Meeting of the Conference of the Parties to the Convention on Biological Diversity) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

                   สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับประชาคมโลกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสนับสนุนการจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกหลังปี ค.ศ. 2020 และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมทั้งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม และการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืน โดยมีประเด็นสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นควรว่าควรร่วมกันดำเนินงาน ดังนี้

                   1. สร้างความเข้มแข็งให้กับกิจกรรมที่มีความสำคัญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนผ่านการจัดการระบบนิเวศเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

                   2. บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ภาคการพัฒนา เพื่อลดแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการดำเนินงานด้านนโยบายเพื่อให้การปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปอย่างยั่งยืน

                   3. ยกระดับกิจกรรม การจัดเตรียมทรัพยากรทางการเงิน และการเสริมสร้างสมรรถนะ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตาม นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนแห่งชาติ (National Biodiversity Strategy and Action Plan) พร้อมทั้ง ส่งเสริมรูปแบบการติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนการอนุรักษ์ดังกล่าว

                   4. ปรับปรุงการสื่อสาร การศึกษา การสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของสาธารณชน รวมถึงสนับสนุนการยกระดับความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นใหม่

                   5. สร้างความเข้มแข็งให้แก่มาตรการที่ช่วยลดโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

                   6. ส่งเสริมความพยายามร่วมกันในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามพันธกรณีภายใต้กิจกรรม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

27. เรื่อง การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ ดังนี้

                   1. อนุมัติให้สนับสนุนและร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 (2) ร่างแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (3) ร่างเอกสารแนวคิดของไทย: แผนงานความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในกรอบอาเซียน

                   2. อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล) ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้องดังกล่าวตามข้อ 1 และอนุมัติในหลักการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของร่างเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมตามข้อ 1 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนการรับรองได้ (หากมีความจำเป็น) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

          ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้องจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 กันยายน 2564 โดยประโยชน์ที่จะได้รับสำหรับการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ ทั้งองค์การระหว่างประเทศและภายใต้กรอบอาเซียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

 

แต่งตั้ง28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายทวี แสงสุวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ)  กรมทางหลวงชนบท ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

29. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ รองเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

31. เรื่อง การให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้ นายเหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2564

 

32. เรื่อง การอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 – 2565

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 – 2565 จำนวน 7 คน โดยให้คงองค์ประกอบเดิมของคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2562 – 2563 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

                   1. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี                                                          ประธานกรรมการ

                      (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ)            

                   2. อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หรือผู้แทน                               กรรมการ

                   3. อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศหรือผู้แทน                         กรรมการ

                   4. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ            กรรมการ

                   5. ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม         กรรมการ

                   6. นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล                                                   กรรมการ

                      [รองอธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และที่ปรึกษาบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)]                 

                  7. นายกสมาคมฟุลไบรท์ไทย                                                       กรรมการ

 

33. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดังรายชื่อต่อไปนี้ 

                   1. ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

                             1.1 นายดนุชา พิชยนันนท์

                             1.2 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์

                             1.3 นายอนันต์ แก้วกำเนิด 

                             1.4 นายวันชัย พนมชัย

                             1.5 ศาสตราจารย์บรรจง มไหสวริยะ

                             1.6 รองศาสตราจารย์สมหมาย ผิวสอาด

                             1.7 ศาสตราจารย์ปิยะมิตร ศรีธรา

                             1.8 นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์

                             1.9 ศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช

                             1.10 ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล 

                   2. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการ 

                             2.1 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

                             2.2 นายกลินท์ สารสิน

                             2.3 รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม

                             2.4 นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

                             2.5 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

                             2.6 ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์

                             2.7 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช

                             2.8 รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ แพสุวรรณ

                             2.9 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

                             2.10 นายทศพร ศิริสัมพันธ์

                   ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและไม่ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

 

34. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้ง นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับทรงคุณวุฒิ) กลุ่มที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

35. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังนี้

                   1. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง                                  กรรมการ

                   2. รองศาสตราจารย์ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย        กรรมการ

                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2564 เป็นต้นไป


 





              ..............
รวบรวมโดย อ.วิชิต ดิษฐประสพ
มือถือ ID LINE 064 5166 794 
มือถือ ID LINE 09 09 17 32 59
ประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ(อ.ต.ร.)(อ.ต.ร.)กลุ่มพันเอก(พิเศษ)สุบรรณ แสงพันธุ์ 
ที่ปรึกษากฎหมาย ประจำสำนักกฎหมายสยามรพี

ข่าวยอดนิยม สังคมสนใจ

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์

ข่าวภูมิภาค เชิญเที่ยว ช๊อป ชิม ริมบึงสามพัน(ถนนคนเดิน) ...