ส่งแล้วตู้แรก "ไก่ไปซาอุ" จุรินทร์ สร้างประวัติศาสตร์ในรอบ 18 ปี "บุกตลาดอาหารซาอุ" ตั้งเป้าไทยส่งออกไก่ 980,000 ตันปีนี้และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
วันที่ 28 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งออกไก่แปรรูป "ตู้ปฐมฤกษ์" ของไทย ไปซาอุดิอาระเบีย พร้อมด้วยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ซีพีเอฟ (มีนบุรี 2)
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันประสานงานกับรัฐบาลซาอุฯจนกระทั่งประสบความสำเร็จให้การรับรองอนุมัติให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี โดยมีโรงงานของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟได้รับการรับรองจำนวน 5 โรงงาน ขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือช่วยประสานงานกับประเทศซาอุดิอาระเบียจนสามารถส่งออกไก่ของไทยกับซาอุฯได้สำเร็จเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกไก่ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ส่งมอบไก่ล็อตแรกไปยังประเทศซาอุฯเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ตั้งแต่ปี 2547 และเดือนนี้คาดว่าจะส่งออกได้ 600 ตัน มูลค่า 47 ล้านบาท และภายในสิ้นปีจะส่งออกได้ 300 ตู้ ปริมาณ 6,000 ตัน มูลค่า 400-500 ล้านบาท และคาดว่าเราจะสามารถทำได้ถึง 60,000 ตัน ภายใน 5 ปี หรือมูลค่า 4,200 ล้านบาท ทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปที่ผ่านกระบวนการมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัดตามหลักศาสนาอิสลาม ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า
วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบียโดยเฉพาะไก่ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมายที่มีความสำคัญหลังจากที่เราขาดโอกาสไปตลอด 18 ปีที่ผ่านมา เมื่อตนเข้ามารับหน้าที่เป้าหมายหนึ่งที่ตั้งไว้คือการฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับซาอุดิอาระเบียโดยเฉพาะสินค้าสำคัญหนึ่งปีที่ผ่านมาได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ ทูตเกษตรและประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับทางการซาอุฯ จนคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซาอุดิอาระเบียตรวจโรงงานและให้การรับรองแล้ว 11 โรงงาน ที่ได้คุณภาพมาตรฐานที่จะส่งออกไก่ไปซาอุฯ และหลังจากนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบีย ตนได้สั่งการอีกครั้งให้ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตรและผู้แทนสถานทูตไทยประจำซาอุดิอาระเบียเดินทางไปพบกับ องค์การอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) และออกประกาศผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 จะสามารถส่งออกไก่ไปซาอุดิอาระเบียได้ ขอขอบคุณคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ช่วยประสานงาน ดูแลมาตรฐานต่างๆให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม
“ช่วงที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียนำเข้าไก่ 75% จากประเทศบราซิล 25% จากยูเครนและฝรั่งเศส จากนี้ไปตนคิดว่าไก่จากประเทศไทยจะเป็นตลาดสำคัญที่ซาอุดิอาระเบียได้ในอนาคต โดยปี 64 เราส่งออกไก่ไปทั่วโลกประมาณ 900,000 ตันนำเงินเข้าประเทศประมาณ 100,000 ล้านบาท และปี 65 ตั้งเป้าว่าจะทำได้ 980,000 ตัน การส่งออกไก่ไปซาอุถือเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มตัวเลขการส่งออกไก่ของไทยด้วย ขอแสดงความยินดีกับซีพีเอฟเป็นโรงงานแรกที่ได้ส่งออกไก่ไปซาอุฯ ตู้ปฐมฤกษ์ หลังจากที่ขาดหายไป 18 ปี และกระทรวงพาณิชย์มีแผนงานสำคัญที่จะประสานงานกับซาอุดิอาระเบียนำคณะเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย ไปขายของทำตัวเลขส่งออกสำหรับการเดินทางไปเยือนและขอเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคนและมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ(Gulf Corporation Council) และปัจจุบันซาอุดิอาระเบียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 6.5 แสนตัน โดย 70% เป็นการนำเข้าไก่สดทั้งตัวและ 30% เป็นการนำเข้าไก่ชำแหละและไก่แปรรูป ผู้บริโภคซาอุดิอาระเบียมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่ 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตันต่อปี