11 กุมภาพันธ์ 2565

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์

ประเทศไทย – การตรวจรักษาทางไกล - กลวิธีในการลดต้นทุนการบริการทางการแพทย์ของไทย

นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยว่าการตรวจรักษาทางไกลได้กลายมาเป็นนิวนอร์มอลในวงการแพทย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากประสบความสำเร็จในการรับมือกับการจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบกักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) การให้บริการในลักษณะดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่ปราศจากต้นทุน อย่างโปรแกรมแชทที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมใช้กันอยู่แล้ว แต่สามารถช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลลงไปได้อย่างมาก ขณะที่ นพ. พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ยอมรับว่า ผู้ป่วยบางส่วนยังคุ้นเคยกับการรับการรักษาแบบพบแพทย์ แต่หากโรงพยาบาลหลายๆ แห่งร่วมมือกันผลักดัน การตรวจรักษาทางไกลก็ย่อมกลายเป็นกระแสใหม่ขึ้นมาได้ จะเหลือก็แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งยังต้องได้รับการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล และไม่สามารถรับคำวินิจฉัยทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวได้




นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี - เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอกนักข่าวA24ว่า “เราก็พยายามส่งเสริมให้คนใช้เทเลเฮลธ์เนี่ยมานานมาก คือให้คุณหมอกับผู้ป่วยเนี่ยได้มี พูดคุยกันผ่านระบบวิดีโอคอล คือไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แต่ด้วยสถานการณ์โควิดมันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากให้หมอเนี่ยวิดีโอคอลกับผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน จนปัจจุบันเนี่ย ผมอยากจะบอกว่ามันเกือบจะเป็นนิวนอร์มอลของแพทย์ของเราแล้ว ที่ยอมรับว่าวิดีโอคอลมันไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย ผมเชื่อว่าเราต้องมองเทคโนโลยีพวกนี้เข้ามา มาช่วย เราอาจจะคิดไม่ถึงนะครับว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่เนี่ยมันสามารถมาช่วยในแวดวงสาธารณสุขเราได้ เรา วิดีโอคอลที่ผมพูดเนี่ยจริงๆ ไม่ใช่เป็นโปรแกรมวิวิศมาหราอะไรเลยนะครับ ในประเทศไทยเรานิยมใช้ไลน์กันเนี่ย เขาก็ใช้ไลน์วิดีโอมาช่วย ก็ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ง่ายๆ”

นพ. พรเทพ พงศ์ทวิกร - ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว บอกว่า “จริงๆ เราเริ่มของการใช้เทเลจริงๆ ในต้นปี 63 นะครับ ในสถานการณ์ตอนนั้น เพราะว่าเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่เราเรียกว่าโควิดนะครับ เราพยายามจะลดปริมาณผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการชองเรานะครับ แต่เราจำเป็นต้องให้บริการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องด้วย เราก็เลยประชุมกันแล้วก็คุยกัน หนึ่งในนั้นก็คือการใช้การที่เรียกว่าเป็นการตรวจสุขภาพ ก็เลยเอาสถานการณ์นั้นเอามาเป็นตัวตรวจโควิด โดยเรามีการติดตั้งกับกล้อง แอพพลิเคชั่น การประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเลือกที่จะมาใช้เป็นเทเลแบบเดียวกันนี้นะครับ ฉะนั้นเราอาจจะมาเลือกใช้พวกนี้กับบางแผนก บางสถานการณ์ กับบางกลุ่มคนไข้ได้ครับ ก็พยายามจะแอพพลายเพื่อที่จะลดปริมาณคนไข้ที่มาใช้บริการที่เราลงนะครับ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยยังชินกับระบบเก่าๆ ที่ต้องเจอแพทย์อยู่ ถ้าหลายๆ โรงพยาบาลร่วมกันมันก็จะสร้างกระแสขึ้นมาได้ ฉะนั้นบ้านแพ้วก็อยากจะเป็นตัวไพโอเนียร์แรกๆ ที่ทดลองเรื่องนี้ด้วย”

พญ. กฤติยา พึ่งวัฒนาพงศ์ บอกว่า “จริงๆ น่ะค่ะ เอาที่คนไข้สะดวกเลยค่ะ ก็คือเจ้าหน้าที่จะต้องสอบถามคนไข้ก่อนว่าคนไข้สะดวกลงโปรแกรมซูมมั้ย อะไรอย่างงี้ค่ะ ถ้าเป็นคนไข้ที่เขาใช้ซูมไม่ถนัด เขาสะดวกที่ในการจะใช้โปรแกรมไลน์มากกว่า เราก็จะเลือกใช้โปรแกรมไลน์ค่ะ เรื่องอินเตอร์เน็ตเนี่ยค่อนข้างจะเสถียร แล้วคนไข้ในปัจจุบันก็มีความรู้ในการสื่อสารทางไอที ในการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แล้วค่ะ ถ้าพูดจริงๆ อุปสรรคในการสื่อสารด้านไอทีเนี่ยคือน้อยมากค่ะ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา แต่ข้อจำกัดของมันก็มีนะคะ ในกรณีที่คนไข้มีโรคประจำ มีอาการผิดปกติ ซึ่งกลุ่มนี้ค่ะ เราก็ไม่แนะนำให้รับบริการฟังผลทางออนไลน์”

นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี - เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า “ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างโควิดนะครับ ถ้าเราให้ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ใน เรามีอันนึงเราใช้คำว่าโรงแรม ใช้โรงแรมมาเป็นโรงพยาบาล ฮอสปิเทล ค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 60,000 บาท แต่ถ้าเราให้คนไข้อยู่ที่บ้านแล้ววิดีโอคอล ส่งอาหารวันละ 3 มื้อ ส่งยา ส่งอุปกรณ์เนี่ย คนไข้ 1 คนเราใช้ประมาณ 10,000 – 20,000 บาท เราดูแลไปประมาณแสนกว่าคนที่อยู่บ้านเนี่ย เราพบว่าผลลัพธ์ไม่ได้แตกต่างกัน คนที่จะเปลี่ยนเป็นเหลืองเป็นแดงก็ไม่ได้ต่างจากการที่จะอยู่โรงแรมหรืออยู่โรงพยาบาลสนาม ตรงกันข้ามคนไข้จำนวนมากเนี่ยไม่ไปล้นอยู่ในโรงพยาบาล”

ที่มา A24 News Agency





ข่าวยอดนิยม สังคมสนใจ

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์

ข่าวภูมิภาค เชิญเที่ยว ช๊อป ชิม ริมบึงสามพัน(ถนนคนเดิน) ...