ข่าวประชาสัมพันธ์
UNODC เข้าเยี่ยมคารวะ บิ๊กหลวง รักษาราชการ เลขาธิการ ป.ป.ส.
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ นายเจเรมี ดักลาส (Mr. Jeremy Douglas) ผู้แทนสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก พร้อมคณะฯ โดยมี นางสาวศรีตระกูล เวลาดี ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ และนางสาวกัญญนันท์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ร่วมให้การต้อนรับ ในโอกาสเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ ณ ห้องรับรองเภา สารสิน สำนักงาน ป.ป.ส.
.
นายเจเรมี ดักลาส ได้แสดงความยินดีกับเลขาธิการ ป.ป.ส. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมขอบคุณในความร่วมมืออันดีระหว่างสองหน่วยงานตลอดเวลาที่ผ่านมา โดย UNODC ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์การลักลอบค้าและผลิตยาเสพติดในแถบประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่จะร่วมกับประเทศไทยในการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมีแผนดำเนินโครงการเชิงยุทธศาสตร์ และเชิงปฏิบัติการในทุกมิติ ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับโลก รวมถึงการขยายความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิกบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ ตลอดจนดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยาเสพติดผ่านวิทยาลัยป้องกันและปราบปรายาเสพติดระหว่างประเทศ (วปส.) การขยายการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (ศป.มข.) และการขยายการสนับสนุนการเก็บรวบรวมข้อมูลยาเสพติด ซึ่ง UNODC มีความพร้อมและยินดีสนับสนุนการทำงานของประเทศไทย
.
ด้าน พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แสดงความขอบคุณและชื่นชม UNODC ที่สนับสนุนและร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นอย่างดียิ่งโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนา วปส. รวมมูลค่ากว่า 130,000 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงการบริจาคอุปกรณ์เรดาห์พร้อมจอแสดงผล ให้กับสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อส่งมอบให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบ ที่ 25 สำหรับปฏิบัติการประจำจุดตรวจเกาะสะระนีย์ จังหวัดระนอง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงานด่านหน้าในการสกัดกั้นยาเสพติดบริเวณชายแดน
.
ในโอกาสนี้ ลปส. ได้แลกเปลี่ยนแนวนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกวาการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเน้นการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและผลกระทบทางสังคม และต้องดำเนินการให้เห็นเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติในการใช้สาธารณสุขนำ โดยมีแนวทางหลัก 2 ปฏิบัติการ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา คือ 1) การแก้ไขผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดที่มีอาการรุนแรง คลุ้มคลั่ง และไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 4,000 คน ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และ 2) การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อดำเนินการสกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 5 อำเภอ และจังหวัดเชียงราย จำนวน 6 อำเภอ และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนม จำนวน 4 อำเภอ โดยใช้ทหารเป็นหัวหน้าของหน่วยปฏิบัติการ
.
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการลักลอบค้ายาเสพติดซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผ่าน สปป.ลาว มากขึ้น โดยประเทศไทยจะได้สนับสนุนการฝึกอบรม พัฒนาองค์ความรู้ให้กับ สปป.ลาว โดยเฉพาะด้านการสืบสวนสอบสวน การสกัดกั้น การใช้เทคโนโลยีในการสืบสวน เป็นต้น ตลอดจนด้านงบประมาณ จากการเดินทางหารือกับผู้นำระดับสูงของ สปป.ลาว ที่ผ่านมา ได้รับทราบปัญหาของ สปป.ลาวจากการให้ความร่วมมือในการสกัดกั้นยาเสพติดและการจับกุมยาเสพติดได้จำนวนมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การจัดเก็บและทำลายยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ที่จับกุมได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ในเรื่องนี้ ไทยจึงขอรับการสนับสนุนจาก UNODC ในการให้การช่วยเหลือกับ สปป.ลาว รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ
.
ทั้งนี้ UNODC เห็นพ้องกับนโยบายและมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางที่ UNODC ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดย UNODC เน้นถึงปัญหาความรุนแรงของยาเสพติดสังเคราะห์ และการควบคุมเคมีภัณฑ์ โดยมองแนวทางการแก้ไขปัญหา เป็น 2 มิติ คือ 1) การสกัดกั้นการรั่วไหลของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และ 2) การจัดการกับยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ที่จับยึดได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยยินดีแจ้งให้ทราบว่า UNODC ปัจจุบันมีโครงการรองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยจะจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้ในประเทศในภูมิภาคด้านการสืบสวนสอบสวน การสกัดกั้น รวมถึงการตรวจสอบวิเคราะห์เส้นทางการลักลอบเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น อีกทั้งในปีหน้าจะมีโครงการขนาดใหญ่ในเรื่องการจัดการทำลายยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ที่ยึดได้อย่างปลอดภัย โดย UNODC จะได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุน สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ UNODC เสนอขอให้สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญทางการทูตและได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วยดี ร่วมดำเนินยุทธศาสตร์กับ UNODC โดยเฉพาะการเจรจาขอความร่วมมือจากประเทศผู้ผลิตสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ให้เพิ่มการควบคุมการรั่วไหล และในฐานะที่ สำนักงาน ป.ป.ส. มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ ให้ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเห็นว่า การแบ่งปันความเป็นหุ้นส่วนและการช่วยเหลือระหว่างกันของประเทศในภูมิภาคด้วยกันเอง เป็นหนทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง มากกว่าการดำเนินการโดยองค์การระหว่างประเทศ/ประเทศผู้บริจาค
.
นอกจากนี้ ลปส. ได้ประสานผ่านผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคฯ เชิญ นางฆอดะห์ วาลี (Ms. Ghada Waly) ผู้อำนวยการบริหารของ UNODC เข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมของประเทศไทยที่จะจัดขึ้นในการประชุมระดับสูง (High-level Segment) ของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 67 ห้วงระหว่างวันที่ 14 - 15 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดย UNODC ยินดีจะประสานเชิญเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวต่อไป
.
ในห้วงสุดท้าย ลปส. ได้ส่งมอบตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ของกลางในคดีที่ตรวจยึดโดยด่านศุลกากรนครพนม ได้แก่ ถุงชาบรรจุภัณฑ์ไอซ์ จำนวน 3 ถุง ให้แก่ UNODC เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษารูปแบบและความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ โดยขอให้ UNODC ส่งผลการศึกษาวิเคราะห์กลับมายัง สำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อเป็นประโยชน์ในการรวบรวมและวิเคราะห์บรรจุภัณฑ์ยาเสพติดของกลางในประเทศไทย ต่อไป
หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์ออนไลน์
สนับสนุนโดย
-----