หนังสือพิมตาทันนิวส์

12 มกราคม 2565

หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์

ปิดตำนานลูกทุ่งไทย “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ”

“ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” จากไปอย่างสงบ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลตากสิน เวลาโดยประมาณ ๑๕.๒๔ น. เริ่มปุ่วยและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ตอนนี้จากพวกเราไปแล้ว แต่จะยังคงอยู่ในใจพวกเราตลอดไป


“ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานของประเทศไทย และอยู่ในวงการมานานหลายสิบปี โดยสร้างผลงานเพลงออกมามากมายนับไม่ถ้วน จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังคงผลิตผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนั้นเป็นเพลงดังที่ฮิตติดหูมากมาย นอกจากนั้นก็ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเพลงพื้นเมืองภาคกลางชนิดหาตัวจับได้ยาก และได้สร้างผลงานเพลงประเภทนี้ออกมามากกว่าศิลปินเพลงพื้นบ้านคนใด 

ยังมีความสามารถด้านการแต่งเพลง และได้แต่งเพลงดังให้กับนักร้องหลายคน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างราชินีลูกทุ่งคนที่ ๒ คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขึ้นมาประดับวงการเพลงเมืองไทยด้วย และได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี ๒๕๔๐

เกิดเมื่อ ๗ มีนาคม ๒๔๘๕ ที่ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เป็นชาวไทยเชื้อสายลาว เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ ๒ ขวบ โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ ๑๔ ปี จากนั้นได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง เมื่ออายุ ๑๖ ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง “จันทโครพ” ปรากฏว่าได้รางวัลที่ ๑

ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์ ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า " ไวพจน์ เพชรสุพรรณ " หลังจากนั้นได้นำไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง "ให้พี่บวชเสียก่อน" และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง ”แบ่งสมบัติ” และ “๒๑ มิถุนา ขอลาบวช” เป็นต้น

“พ่อไวพจน์” เป็นผู้มีความสามารถรอบตัว เพราะนอกจากจะร้องเพลงลูกทุ่งได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เล่นได้หมดและเล่นได้ดีขนาดโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะการแหล่ ทุกคนในวงการล้วนยกย่องให้ไวพจน์เป็น " ราชาเพลงแหล่ " เพราะมีเพลงแหล่บันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังสามารถแหล่ด้นกลอนสดได้อย่างไม่ติดขัด

ในจำนวนนักร้องลูกทุ่งอาวุโส ไวพจน์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดถึงประมาณ ๒,๐๐๐ เพลง และยังคงผลิตผลงานออกมาเพิ่มเติมในระดับที่ถี่กว่าคนอื่น ทั้งเพลงที่ครูเพลงแต่งให้และแต่งเองร้องเอง ไวพจน์ เพชรสุพรรณยังสามารถแต่งเพลงสร้างชื่อให้ลูกศิษย์มาแล้วมากมาย โดยศิษย์เอกที่โด่งดังของไวพจน์มี ขวัญจิต ศรีประจันต์ , เพชร โพธาราม (เพลง ต.ช.ด.ขอร้อง) และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลงแก้วรอพี่ , นักร้องบ้านนอก) นอกจากนั้นก็ยังเป็นหมอทำขวัญซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอทำขวัญอันดับหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน
#ไวพจน์เสียชีวิต

ราชจักร เพ็งอุ่น ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม จ.สุพรรณบุรี รายงาน