หนังสือพิมตาทันนิวส์

24 กรกฎาคม 2564

พุทธศิลป์ถิ่นแพร่ The Legend of Phrae วัดไม้สักทั้งหลัง

วัดจอมสวรรค์ หรือ จองเหนือ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมทีนั้น เป็นวัดร้างในป่านอกตัวเมืองแพร่ออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร ในสมัยของเจ้าหลวงพิมพิสาร (ชาวแพร่เรียกว่า เจ้าหลวงขาเค หมายถึง ขาเก ครองเมืองแพร่ ช่วงปี พ.ศ. 2415 – 2431) พ่อเฒ่ากันตี และนายฮ้อยคำมาก สองพ่อค้าชาวไทยใหญ่ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งวัดจอมสวรรค์แล้วเห็นสภาพวัดร้างอยู่ ซึ่งเป็นศิลปะแบบของตนจึงเกิดความความศรัทธารวบรวมชาวบ้านโดยมีจองนันตา เชอร์แมนของบริษัทอิสต์เอเชียติค และมิสเตอร์ เอช สเลด (H. A. SLADE) ฝรั่งชาวอังกฤษที่เข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ได้ช่วยจัดหาไม้สักมาบูรณะวัดอีกแรงหนึ่ง และชักชวนชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาในเมืองแพร่อพยพมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณเดียวกันรอบๆ วัดมากขึ้น เวลาผ่านไปก็มีการขยายชุมชนชาวไทยใหญ่ออกไปทางทิศใต้อีกจนมีการสร้างวัดไทยใหญ่ขึ้นอีก 2 วัด บ้างก็แต่งงานอยู่กินปะปนกับคนพื้นเมืองชาวแพร่ทั่วไป


วิหาร วัดจอมสวรรค์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบพม่า ตัวอาคารเป็นไม้สักใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ในหลังเดียวกันคล้ายเรือนหมู่ มีบันไดขึ้นลงด้านหน้าทั้งสองข้าง เป็นบันไดก่ออิฐถือปูน บัวหัวเสาบันไดมีลวดลายปูนปั้นเครือเถาแบบพม่าประดับตามกรอบขอบบัวหัวเสาโดยรอบ ส่วนท้องไม้ฐานปูนของอาคารก็มีลายกรอบโค้งแบบพุกามประดับด้วยลายเครือเถา มุขของบันไดแต่ละด้านเป็นอาคารทรงปราสาทมีหลังคาสูงซ้อนชั้น 6 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไป ปลายยอดสุดของอาคารมีช่อตุง (ฉัตรแบบพม่า) ประดับส่วนยอดทั้งสองด้าน ส่วนลายท้องไม้ของยอดปราสาทแต่ละชั้นโดยรอบมีลวดลายของกรอบไม้ย่อมุมสิบสอง และดอกประจำยามประดับตรงกลางอันมีความหมายถึง จักรวาล ในพุทธศาสนา ด้านหน้าของโบสถ์ ภายนอกตกแต่งด้วยการฉลุไม้ประดับกระจกสี มีหน้าต่างรูปวงกลมขนาดเล็ก 2 ช่อง ภายในอาคารมีการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เพดาน และเสาฉลุไม้ประดับกระจกสี (แก้วอังวะ) อย่างงดงาม ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อสาน พระพุทธรูปงาช้างซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า อาคารส่วนหนึ่งได้จัดแสดงศิลปวัตถุ เช่น คัมภีร์งาช้างหรือคัมภีร์ปฏิโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบางๆ เขียนลงรักแดง จารึกด้วยอักษรพม่า บุษบกลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน พระพุทธรูปที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วลงรักปิดทองตามแบบเชิงช่างของชาวไทยใหญ่ ดอกไม้หินปืนคาบศิลา เป็นต้น


นอกจากนี้ในบริเวณของวัดจอมสวรรค์ ด้านขวาของวิหารมีเจดีย์สถูปแบบพม่าตั้งอยู่ด้วย ต่างจากคติการสร้างเจดีย์ของคนเมืองแพร่ที่มักสร้างเจดีย์อยู่หลังโบสถ์ โดยเชื่อว่าเมื่อมานมัสการพระประธานก็ได้นมัสการเจดีย์ด้วย เนื่องจากตัววิหารและมุขบันไดมีสภาพทรุดโทรมจึงมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2551 อีกครั้ง มีการเปลี่ยนไม้แป้นเกล็ดหลังคา ทาสีรักษาสภาพเนื้อไม้อาคาร เปลี่ยนเอาไม้ส่วนที่ชำรุดเสียหายออก ส่วนประดับกระจกแก้วอังวะก็ได้แก้ไขปรับมาใช้วัสดุเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากขาดช่างที่มีความรู้แบบพม่าได้ยาก นอกจากนี้ส่วนมุขหลังคาได้แก้ไขจากวัสดุเดิมให้เป็นวัสดุที่มีความคงทนมากกว่าเดิม



แป้หม่าเก่า Ancient Phrae # อนุรักษ์ สืบสาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เมืองแพร่
https://web.facebook.com/Ancient.Phrae
@Jakarat  
ที่มา https://asaconservationaward.com/

Cr แป้หม่าเก่า Ancient Phrae  //ข้อมูลภาพ ข่าว TEE สนง.หนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์
รายงานข่าว