หนังสือพิมตาทันนิวส์

20 กรกฎาคม 2564

สอนมวย "กยท." พลิกบัตรสีชมพู เป็นบัตรสีเขียว ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องแก้กฎหมาย

“อุทัย” ส่ง จดหมายเปิดผนึก ถึง ประธานบอร์ด กยท. พลิกบัตรสีชมพู เป็นบัตรสีเขียว ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ใช้มติ บอร์ด ทบทวนการเข้าสิทธิ ง่ายนิดเดียว ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย
ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) ได้ทำหนังสือจดหมายเปิดผนึกถึง นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด)  ถึงเรื่อง การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ. ศ. 2558 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564  นั้น 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “หนังสือพิมพ์ตาทันนิวส์” ว่าด้วยปรากฏว่า มีเกษตรกรชาวสวนยางในทุกจังหวัดที่อยู่ในเขตปลูกยาง ร้องเรียนมายังสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ขอความช่วยเหลือ ให้เกษตรกรที่ปลูกยางในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ 2558
ด้วยเหตุผล ผลผลิตในสวนยางของเกษตรกรชาวสวนยาง ได้นำออกขายในตลาดของพ่อค้าท้องถิ่น โรงงานของเอกชน หรือตลาดของทางราชการ ซึ่งหมายถึงเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นเจ้าของผลผลิตในสวนยางนั้น ต้องเสียเงินสงเคราะห์กิโลกรัมละ 2 บาทให้กับการยางแห่งประเทศไทยแม้นว่าจะเสียทางอ้อมก็ตาม แต่มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากกองทุนพัฒนายางพาราแต่อย่างใด

สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ดังนั้น คณะกรรมการสมาคมฯ จึงพิจารณาข้อกฎหมาย แยกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง  เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิตามกฎหมาย  เข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง” ตามพระราชบัญญัติฯ หรือไม่

ส่วนประเด็นที่สอง กรณีเข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง” แล้วเหตุใดจึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558  คณะกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็น ดังนี้
1.ประเด็นที่ 1 ตามเหตุผลที่เกษตรกรชาวสวนยางอ้างถึง ผลผลิตในสวนยางของตนเอง ได้นำออกขายในตลาดท้องถิ่น โรงงานของเอกชน หรือตลาดของทางราชการก็ตาม เท่ากับว่า ตนเองได้เสียเงินสงเคราะห์เข้า “กองทุนพัฒนายางพารา” แม้นว่าจะเป็นเสียทางอ้อม คณะกรรมการสมาคมฯ มีความเห็นว่า โดยข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาได้ว่า ตราบเท่าที่ ผลผลิตในสวนยางนั้น ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ ซึ่งหมายถึงเกษตรกรชาวสวนยางรายนั้นมีสิทธิ์ได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยาง จึงเข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง” ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ 2558 ย่อมมีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อรับสิทธิประโยชน์ใน “กองทุนพัฒนายางพารา” ตามพระราชบัญญัติ การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ยกเว้นการขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทนตามมาตรา 49(2) ทำไม่ได้ เพราะ มาตรา 36 กำหนดเป็นข้อห้ามไว้
2.ประเด็นที่ 2 เมื่อพิจารณาในประเด็นที่ 1 แล้วว่ากรณีเข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง”ตามความหมายในมาตรา 4 แล้ว เหตุใดจึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558  คณะกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาเห็นว่าการขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยได้กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนดเป็นประกาศการขึ้นทะเบียนเป็น 2 ประเภท คือ

(1)รายที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “บัตรสีเขียว” จะมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49

(2)รายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “บัตรสีชมพู”  การขึ้นทะเบียนก็เพื่อประโยชน์ในการขอรับความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นความช่วยเหลืออะไร ไม่มีการกำกนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขใดๆ เท่ากับว่าไม่มีสิทธิ์ใดๆที่จะได้รับการช่วยเหลือจาก “กองทุนพัฒนายางพารา” ตามพระราชบัญญัติ การยางแห่งประเทศไทย พ. ศ. 2558 คณะกรรมการสมาคมฯ จึงลงความเห็นว่า  การยางแห่งประเทศไทย จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย (บัตรสีชมพู) มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ 2558 ยกเว้น การขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทน มาตรา 40(2) เพราะมาตรา 36กำหนดเป็นข้อห้ามไว้

คณะกรรมการสมาคมฯ จึงลงมติให้การยางแห่งประเทศไทย โดยประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ทบทวนประกาศของคณะกรรมการฯ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ซึ่งตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ท้ายมาตรา 4 กำหนดเป็นอำนาจของคณะกรรมการไว้ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฯ เพราะผลผลิตจากต้นยางในสวนยางนั้นยังเป็นสิทธิของเกษตรกรชาวสวนยางอยู่

อีกประการหนึ่ง เกษตรกรเหล่านั้นยังเคยได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลให้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ 
ระยะที่ 1จากผลผลิตยางพาราของตนเองมาแล้วด้วย ดังนั้น หากไม่มีการทบทวนแก้ไข  ทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเหล่านั้น จะร้องเรียน ทางกฎหมายได้ว่า คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน ขัดกับกฎหมายหลักคือมาตรา 4 คำว่า “เกษตรกรชาวสวนยาง”
อนึ่ง  เพื่อมิให้สับสน การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่มีความจำเป็นต้องแยกเป็น 2 ประเภท เพราะ ข้อความในแบบขึ้นทะเบียน จะบ่งบอกถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่แล้ว หากผู้ใดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ก็ย่อมต้องปฏิบัติตามมาตรา 36 อยู่แล้ว คือ ขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทนไม่ได้
ภาพ/ข่าว ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์

รายงานข่าว