หนังสือพิมตาทันนิวส์

23 กรกฎาคม 2564

ดีอีเอส ชูเทคโนโลยี 5G เข้ามาช่วยพัฒนาบริการด้านสาธารณสุข และพลิกฟื้นเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่เชียงใหม่และภูเก็ต

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางสาวอัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม 
โดยคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เห็นชอบให้ดำเนินการนำร่องการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยี 5G (5G District) ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ 5G Use Case ระบบการคัดกรองและแจ้งเตือน สำหรับ Phuket Sandbox เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต



พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่จะเป็นโอกาสขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด 19 จะต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G และมีการถอดบทเรียนจากการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในมิติต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จ เช่น การนำร่อง Smart Hospital ณ โรงพยาบาลศิริราช การทำเกษตรดิจิทัล ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จ. เชียงราย นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก 5G อย่างเท่าทียม พร้อมทั้ง ต้องมีการหารือกับคนรุ่นใหม่ หรือ Startup ให้ตระหนักถึงการดำเนินงานขับเคลื่อน 5G ของภาครัฐ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลให้เพียงพอและมีทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานได้
​นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G โดยที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการนำร่องการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี 5G มาโดยตลอด ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันเพื่อผ่านวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ กระทรวงดีอีเอสจึงได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วน และได้ผลักดัน 2 โครงการนำร่องดังกล่าว ที่มีเทคโนโลยี 5G เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
​ 1. การนำร่องการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยี 5G (5G District) ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการยกระดับบริการต่าง ๆ ของรัฐโดยใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน



(1) ด้านการเดินทาง (5G Mobility) ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการข้อมูลการเดินทางสาธารณะทุกรูปแบบ ผ่านแอปพลิเคชันเดียว อาทิ รถเมล์ รถแดง รถแท็กซี่ รถตู้รับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเช่า และรถรับจ้างอื่น ๆ แสดงแผนที่นำทาง ให้ข้อมูลการเดินทางได้แบบ Real time ประมาณการค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และแสดงระยะเวลาประมาณการเดินทาง รวมถึง แสดงข้อมูลสถานที่สำคัญ จุดให้บริการความช่วยเหลือ และจุดให้บริการนักท่องเที่ยว สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน และจุดชาร์จรถไฟฟ้า นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังทำงานร่วมกับ Smart Traffic ได้แก่ สัญญาณไฟจราจร กล้องวงจรปิดที่มีระบบวิเคราะห์ใบหน้า นับจำนวนคนที่ข้ามถนน เก็บข้อมูลป้ายทะเบียนรถ ชนิดของรถยนต์ และจำนวนรถยนต์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับคำนวณเวลาในการเปิด-ปิดสัญญาณไฟจราจร ที่สามารถเพิ่มหรือลดเวลาได้โดยอัตโนมัติ และรองรับการเปิด-ปิดสัญญาณไฟจราจรกรณีฉุกเฉินผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณกับรถพยาบาล เพื่อจัดการเส้นทางให้ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว โดยจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการจราจร ลดอุบัติเหตุ ก่อเกิดประโยชน์ด้านการสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทางภายในจังหวัด


(2) ด้านสุขภาพ (5G Healthcare) จัดตั้ง 5G Hospital ที่ให้บริการด้านการแพทย์ผ่านเทคโนโลยี 5G ด้วยการยกระดับ Telemedicine ในพื้นที่ห่างไกลให้รองรับเทคโนโลยี 5G และใช้อุปกรณ์ Digital Health เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยอาการทางไกลได้ โดยการเชื่อมต่อโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลด้วยเทคโนโลยี 5G นอกจากนี้ ยังประยุกต์ใช้งานร่วมกับรถพยาบาลฉุกเฉินที่สามารถรับสัญญาณ 5G และมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลผ่านระบบ 5G ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานส่วนหน้าสามารถบันทึกรายละเอียดของผู้ป่วย หรือผู้ประสบเหตุได้ทันที เป็นการรายงานอาการของผู้ป่วยเพื่อให้แพทย์ และ/หรือ บุคลากรทางการแพทย์ทราบอาการในแต่ละระยะได้ก่อนถึงโรงพยาบาล 
​2. 5G Use Case ระบบการคัดกรองและแจ้งเตือน สำหรับ Phuket Sandbox เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยนำเทคโนโลยี 5G ประยุกต์ใช้ในหลายมิติ ตั้งแต่การลงทะเบียนข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นฐานข้อมูล เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และจัดตั้ง 5G Smart Gate พร้อมกล้องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ ที่สามารถวิเคราะห์ใบหน้าของนักท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์บุคคลในการคัดกรอง และเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบแพลตฟอร์มกลาง (Phuket Data Sandbox Platform) ที่จะแจ้งเตือนด้วยข้อมูลเรียลไทม์ให้กับเจ้าหน้าที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้ในการประกอบการตัดสินใจดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


​การผลักดันการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ กระทรวงดีอีเอสคาดหวังว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสาธารณสุขและเข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและเชียงใหม่ โดยสำหรับจังหวัดเชียงใหม่เทคโนโลยี 5G จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยจะเป็นการลดอัตราการเสียชีวิต และลดระยะเวลาในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นด้วยระบบ Telemedicine นอกจากนี้ ยังจะเป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำ ในการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ของประเทศไทยในปี 2565 และสำหรับจังหวัดภูเก็ตเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยสร้างสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนชาวภูเก็ต นักท่องเที่ยว และประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้ง ยังช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนในระยะยาวจากภาคเอกชนของกลุ่มนักธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในกิจการโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกด้วย
#สดช #onde #5g
รายงานข่าว.